ญาติรับศพเหยื่อสาวซิ่งบนไหล่ทางชนคนตกทางด่วนแล้ว บรรยากาศที่นิติเวช รพ.จุฬาฯสุดสลด ขอความเป็นส่วนตัวไม่เปิดใจเหตุที่เกิดขึ้น นำศพทำพิธีทางศาสนาวัดบึงทองหลาง ส่วนผู้ต้องหายังรักษาตัวอยู่ รพ.ตำรวจ ยังไม่ได้สอบปากคำ แต่ ดำเนินคดี 3 ข้อหาฉกรรจ์แล้ว กำลังตรวจสอบข้อหาอื่นเพิ่ม หลังเหตุสลดหลายหน่วยงานตีปี๊บล้อมคอก “นครบาล” สั่งตำรวจจราจรกลางเข้มจับ-ปรับคนขับรถบนไหล่ทาง ส่วน กทพ.เล็งตีเส้นทำลูกคลื่น หรือทาสีสะดุดให้วิ่งไม่สะดวก

กรณี น.ส.นุชนาฏ พรหมณะ อายุ 36 ปี ขับรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ สีขาว ทะเบียน 5 กฮ 2035 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนท้ายรถเกีย คาร์นิวัล สีเทา ทะเบียน ศท 1437 กรุงเทพมหานคร ที่จอดเสียอยู่บนไหล่ทาง และรถ จยย.ฮอนด้า ซีบีอาร์ สีขาว ทะเบียน 7 กฮ 8462 กรุงเทพมหานคร ของตำรวจทางด่วน 1 จนพังยับ ทำให้ น.ส.ธัญญพัทธ์ วิพันธ์พงษ์ อายุ 68 ปี เจ้าของรถเกียที่ยืนรับความช่วยเหลือจาก ร.ต.ต.สุพจน์ ไชยนอก ผบ.หมู่ศูนย์ควบคุมจราจรด่วน 1 อยู่ กระเด็นตกทางด่วนสูงประมาณ 20 เมตรลงมาเสียชีวิต บนถนนซอยปรีดีพนมยงค์ 2 แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา เหตุเกิดบนทางด่วนพิเศษฉลองรัชขาเข้ารามอินทรามุ่งหน้าสุขุมวิท 50 (พระโขนง) ช่วงก่อนทางลงด่วนประมาณ 200 เมตร ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 ก.ย. ที่อาคารนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ น.ส.พิมพ์ธิชา เจริญวงษ์ธนากุล อายุ 38 ปี ลูกสาวของ น.ส.ธัญญพัทธ์ ผู้เสียชีวิต พร้อมครอบครัวและญาติเดินทางมารับศพ บรรยากาศเป็นไปด้วยความ โศกเศร้าครอบครัวปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ก่อนเข้าไปทำพิธีกรรมแบบจีนและพุทธเพื่อบรรจุศพ จากนั้นนำไปบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 3 วัดบึงทองหลาง ซอยลาดพร้าว 101 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ มีพิธีฌาปนกิจวันที่ 8 ก.ย. เวลา 16.00 น. ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตผลชันสูตรระบุเบื้องต้น อวัยวะภายในฉีกขาดหลายแห่ง

...

ด้าน พ.ต.ท.ฉัตรชัย เอี่ยมอ่อง รอง ผกก. (สอบสวน) กก.2 ศูนย์ควบคุมจราจรทางด่วน 1 กก.2 เจ้าของคดี เผยว่า ขณะนี้ตั้งข้อหาหนักกับ น.ส.นุชนาฏ พรหมณะ ผู้ขับรถฟอร์จูนเนอร์ ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ และข้อหาขับรถประมาทชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย ส่วนการกระทำความผิดอื่นเกี่ยวกับคดีจราจร หรือการขับรถคร่อมเข้าช่องทางฉุกเฉินเป็นโทษปรับ ต้องตรวจสอบเพื่อแจ้งข้อหาหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดเรื่องใดบ้าง

พ.ต.ท.ฉัตรชัยเผยต่อไปว่า ขณะนี้ น.ส.นุชนาฏ ยังอยู่ระหว่างการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลเพราะถือว่าเป็นผู้ต้องหา และยังไม่ได้สอบปากคำเพราะอยู่ในความดูแลของแพทย์ ส่วนอาการ น.ส.เขมณัฐ รุ่งเรืองวิสิทธิ์ อายุ 27 ปี ลูกสะใภ้ของ น.ส.ธัญญพัทธ์ที่ตั้งครรภ์และโดยสารอยู่ที่เบาะหลังขณะเกิดเหตุ ยังอยู่ในความดูแลของแพทย์เช่นกัน ขณะนี้มีผู้เสียหายในคดีนี้ 3 คนคือ น.ส.ธัญญพัทธ์ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ 2 คือ น.ส.เขมณัฐ และ ร.ต.ต.สุพจน์ ไชยนอก ที่เข้าไปช่วยเหลือขณะรถเสีย ส่วนความเสียหายบนทางด่วนฉลองรัชต้องรอทางด่วนมาตรวจสอบว่า เสียหายจุดใดหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีตัวแทนมาแจ้ง หลังจากนี้ต้องขอเวลาเก็บรวบรวมพยานหลักฐานประกอบสำนวนคดีสักระยะ เพื่อแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจาก 3 ข้อหาที่ตั้งไว้ต่อไป

ที่ บช.น.วันเดียวกัน พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น.เผยว่า เบื้องต้นต้องชี้แจงว่า ไหล่ทางไม่ใช่ช่องทางเดินรถ แต่เป็นช่องทางสำหรับจอดรถกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่ารถเสีย รถชน หรือเป็นช่องทางสำหรับรถพยาบาล รถฉุกเฉินที่จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีประชาชนที่ใช้ทางด่วนเข้าไปวิ่งไหล่ทางเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับรถที่จอดเสียบ่อยครั้ง บช.น.จะต้องหารือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อกำหนดมาตรการดูแลและป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนวิ่งบนไหล่ทาง เพราะตามกฎหมายจราจรระบุ ไว้ชัดเจนว่า ห้ามรถเข้าไปวิ่งไหล่ทาง หากฝ่าฝืนเข้าไปวิ่งจะถือเป็นการกระทำความผิดฝ่าฝืนเครื่อง หมายบนพื้นที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

“นอกจากการหารือเพื่อบังคับใช้กฎหมายแล้ว บช.น.จะต้องหารือกับ กทพ.เพิ่มเติมว่า ควรติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนสำหรับประชาชนที่รถเสียใช้บอกผู้ร่วมทางเป็นสัญลักษณ์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม บช.น.ขอแนะนำประชาชนว่า หากเกิดรถเสียบนทางด่วนให้พยายามจอดรถให้ชิดขอบทางด้านซ้ายให้มากที่สุด และไม่ควรยืนบริเวณด้านหน้ารถ และต้องเปิดไฟกะพริบ รีบโทร.ขอความช่วยเหลือที่หมายเลขสายด่วนจราจร 1197 หรือหมายเลข 191 รวมทั้งขอความร่วมมือไม่ขับรถบนไหล่ทาง นอกจากนี้จะกำชับแนวทางการปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจราจรที่ปฏิบัติงานบนทางด่วน หากพบเห็นรถเสียให้ตำรวจจอดรถด้านท้ายรถคันที่เกิดเหตุพร้อมให้สัญญาณไฟฉุกเฉิน” พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าว

ขณะที่นายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ.จะตีเส้นทึบไหล่ทางตลอดแนวห้ามรถเข้าไปวิ่ง ยกเว้นกรณีรถจอดเสียหรือเกิดอุบัติเหตุ อนุญาตให้นำรถเข้าไปจอดชั่วคราวได้เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้กีดขวางการจราจร แต่ในภาคปฏิบัติช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็นปริมาณรถมาก การจราจรติดขัด ผู้ใช้รถจะเข้าไปวิ่งในช่องไหล่ทางเพราะพื้นที่ไม่เพียงพอกับปริมาณรถ ส่วนนอกเวลาเร่งด่วนรถจะวิ่งช่องปกติ หรือถ้าจำเป็นต้องวิ่งไหล่ทางจะรีบออกทันที เพราะผู้ใช้ทางทราบดีว่าเป็นทางห้าม ก่อนหน้านี้ กทพ.รณรงค์ห้ามรถวิ่งไหล่ทาง อาจต้องรณรงค์มากขึ้น ขณะนี้เตรียมหามาตรการป้องกันไม่ให้รถเข้าวิ่งในช่องไหล่ทาง เบื้องต้น จะตีเส้นทำเป็นลูกคลื่น หรือทาสีสะดุดให้วิ่งไม่สะดวก เพื่อเตือนให้ผู้ใช้รถทราบว่าเป็นช่องทางห้าม รวมถึงประสานงานตำรวจช่วยดูแลกวดขันอย่างจริงจัง