ทอล์กออฟเดอะทาวน์ของแวดวงสีกากีในช่วงหนี้ คงหนีไม่พ้น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกเลิกผู้หญิงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง” ปิดตำนานนักเรียนตำรวจหญิง ที่มีเพียง 10 รุ่นเท่านั้น....
เมื่อบันทึกข้อความฉบับดังกล่าวออกมา กระแสเม้าท์สนั่นสั่นสะเทือนแวดวงสีกากีก็เริ่มต้นทันที เพราะเมื่อย้อนกลับไป 9 ปีก่อน(ปี 2552) ยุค "บิ๊กป๊อด" พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย "บิ๊กป้อม" นั่งเป็น "ผบ.ตร." บิ๊กป๊อดได้กรุยทางเปิดโครงการนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จ.นครปฐม ในปีการศึกษา 2552 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 107 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
...
ส่วนที่มาที่ไปในการ “ยกเลิกผู้หญิงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง” นั้น ณ ขณะนี้ ก็ยังไร้วี่แววที่มาที่ไป หรือเหตุผลจากปากทีมงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือแม้กระทั่งทีมโฆษกฯ จะออกมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ให้เคลียร์ชัด ทำนิ่งทำเฉย จนองค์กรที่ขับเคลื่อนเกี่ยวกับผู้หญิงเริ่มขยับเนื้อขยับตัวแสดงท่าทีตรงกันข้ามกับทาง สตช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กระนั้น หากถามว่า “ไม่มีตำรวจหญิงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?” คำตอบ คือ ปัจจุบัน คดีล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นมากมายรายวันนับครั้งไม่ถ้วน และเราต้องยอมรับโดยสดุดีว่า พนักงานสอบสวนหญิงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการไขคำให้การของเหยื่อที่สภาวะจิตใจแสนจะบอบช้ำเต็มทน หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ผู้เสียหายกล้าที่จะเปิดใจถ่ายทอดเหตุการณ์อันเลวร้ายกับตำรวจหญิงมากกว่าตำรวจชาย”
ทีมข่าวเจาะประเด็น ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จนต้องต่อสายถามหาคำตอบจากปาก 'รองโฆษกฯ แจ๊ค'-พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ รองโฆษกฯ แจ๊ค ก็ตอบปัดๆ ให้ไปคุ้ยแคะจากปาก พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ(ผบช.รร.นรต.) เองจะดีกว่า แต่ทาง พล.ต.ท.ดร.ปิยะ ก็ไร้สัญญาณตอบกลับ ไม่สามารถติดต่อได้แต่อย่างใด
...
จากนั้น ทีมข่าวจึงติดต่อไปยัง พล.ต.ต.พงษ์พันธุ์ วรรณภักตร์ รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อสอบถามถึงที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าว แต่เจ้าตัวติดภารกิจอยู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน สัญญาณไม่ค่อยดี จึงไม่ได้ยินคำถามของทีมข่าว...
เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังปัดๆ หลบๆ กับประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวจึงพูดคุยกับ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
เพ็ญศรี มองเรื่องนี้ว่า ในเครือข่ายองค์กรผู้หญิงได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าว และได้พูดคุยกับประธานชมรมพนักงานสอบสวนหญิง ซึ่งภาคฝ่ายผู้หญิงที่เกี่ยวข้องมีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
...
“เหตุผลสำคัญที่ต้องมีพนักงานสอบสวนหญิง คือ พวกเขาคือ กลไกสำคัญ และเป็นกระบวนการยุติธรรมต้นทางที่ช่วยดูแลปกปักรักษา คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดสิทธิ์ รวมถึงเหตุความรุนแรงภายในครอบครัว” สุเพ็ญศรี ให้เหตุผล
“วันนี้ เราต้องโยนคำถามไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วว่า เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิ.อาญาฯ ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน แต่ทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับมีการยกเลิกนักเรียนตำรวจหญิงเสียอย่างนั้น” สุเพ็ญศรี ตั้งคำถาม
...
“ในขณะที่ปัจจุบัน พนักงานสอบสวนหญิงนั้น มีจำนวนน้อยมาก ทั้งประเทศมีเพียง 4 ร้อยกว่าคนเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนคดีที่เกี่ยวกับเพศที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน และสวนทางกับความจำเป็นที่ต้องมีตำรวจหญิงในการสอบปากคำ” น.ส.สุเพ็ญศรี กระทุ้งให้ทุกฝ่ายหันมาตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้
นอกเหนือจากนี้ พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี ประธานชมรมพนักงานสอบสวนหญิง ได้เปิดใจกับทีมข่าวเจาะประเด็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า “เราไม่ทราบถึงที่มาที่ไปของเรื่องยกเลิกผู้หญิงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เพราะเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาที่ท่านมีเหตุผลของท่าน”
“ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ, คดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็ก หรือคดีความรุนแรงทางครอบครัว ในทางปฏิบัติจะต้องให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันอัตราของพนักงานสอบสวนหญิงยังขาดอยู่มาก และจะมีพนักงานสอบสวนหญิงเฉพาะในสถานีตำรวจที่มีคดีจำนวนมาก แต่เราก็เข้าใจดีว่า ต่อไปผู้บังคับบัญชาก็คงจะรับพนักงานหญิงเข้ามาเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด แต่อาจจะเข้ามาในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว เข้าใจในการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี
“ทุกวันนี้ มีเหตุคุกคามทางเพศและทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัวเพิ่มขึ้นรายวัน แต่ผู้เสียหายหลายต่อหลายรายไม่กล้าไปแจ้งความ เนื่องจากเกิดความอับอายเวลาถูกสอบปากคำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชาย ฉะนั้น หากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเป็นผู้สอบปากคำ ผู้เสียหายก็จะถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างเปิดใจ เพราะผู้หญิงด้วยกันจะเห็นใจ และเข้าใจในความละเอียดอ่อนได้ดีกว่าผู้ชาย” พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว บอกเล่าตามประสบการณ์.
คุณคิดอย่างไรกับกรณี 'เลิกรับ นรต.หญิง'
ตำรวจหญิงจากรั้วสามพราน ยังจำเป็นอยู่หรือไม่...
คำว่า 'ถูกข่มขืนซ้ำ' อันเป็นความเลวร้ายของอาชญากรรมทางเพศ
จะต้องเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนั้นหรือ?
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก : FB พนักงานสอบสวนหญิง