อพท.ผนึกกำลัง 19 มหาวิทยาลัย ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว สร้างเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้ มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.61 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรือ อพท.หน่วยงานหลักในการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย นำโดย พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท.ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มุ่งยกระดับพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการ และถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดลงนาม 19 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ร่วม "สร้างเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" พร้อมเปิดหลักสูตรของศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ DASTA Academy เดินหน้าเติมเต็มทักษะการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนทั่วประเทศ
โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธี กล่าวว่า "ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการลงนามความร่วมมือของ อพท.และภาคการศึกษาในวันนี้ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ในการมุ่งยกระดับพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวประเทศไทย ภายใต้กิจกรรม "สร้างเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ที่จำนำหลักสูตรที่ครอบคลุมหลายมิติในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในด้านบริหารจัดการขั้นพื้นฐานชุมชน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในหลักสูตร เพื่อสนับสนุนด้านตลาดในพื้นที่ชุมชน และสิ่งสำคัญคือการที่ประชาชนหรือชุมชนเจ้าของพื้นที่ ร่วมกันดูแลรักษาวิถีชีวิต ประเพณี และสิ่งแวดล้อม ในสถานที่ท่องเที่ยวที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของประเทศไทย ให้ชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงความเสน่ห์งดงาม ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวนั้นเป็นกลไกสำคัญ ที่สามารถร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยได้อีกมาก"
...
ขณะที่ ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า จากองค์ความรู้ในด้านเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวที่ อพท.พัฒนาขึ้นตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ได้พัฒนามาเป็น 2 แนวทาง คือ 1. แนวทางให้โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำหรับพัฒนาในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว 9 แห่ง 2. แนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แก่ เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (The Criteria for Thailand's Community-Based Tourism Development (CBT Thailand)) และมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard: STMS)
"องค์ความรู้ที่ อพท.พัฒนาขึ้นมาพิสูจน์และเห็นผลแล้วว่า สามารถช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้จริงใ นพื้นที่ต้นแบบและชุมชนต้นแบบของ อพท.โดยหน่วยงานหรือชุมชนอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยเรียนรู้จากหลักการแนวความคิดที่ อทพ.มีอยู่ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ DASTA Academy เพื่อเป็นหน่วยงาน สนับสนุนภารกิจยกระดับความสามารถการจัดการความรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก(GSTC) ทั่งเกณฑ์สำหรับแหล่งท่องเที่ยว(GSTC-D) และเกณฑ์สำหรับโรงแรมและบริษัทนำเที่ยว(GSTC-I) โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้บุคลากรของ อพท.และบุคลากรภาคการท่องเที่ยว สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างมีมาตรฐานและยั่งยืน"
"ดังนั้นเพื่อสนับสนุนภารกิจยกระดับความสามารถการจัดการความรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก(GSTC) วันนี้ อพท.ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ เล็งเห็นความสำคัญ ในการผนึกกำลังหน่วยงานภาคีพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยสำคัญในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวกว่า 19 มหาวิทยาลัยเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเป็นเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกันด้วย"
"การลงนามวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำองค์ความรู้ของ อพท.ไปเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรในหน่วยงานในภาคการศึกษา ซึ่งถือเป็นเครือข่ายที่จะช่วยขับเคลื่อนหลักสูตรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่การท่องเที่ยว ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว หน่วยงานภาคีเครือข่าย นักพัฒนาการท่องเที่ยว บุคลากรภาครัฐ และ อปท.ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ สร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชน โดยเน้นประสานความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพราะการจะยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในวันนี้สิ่งสำคัญคือความร่วมมือ ร่วมใจของคนไทยในการร่วมผลักดันสู่การพัฒนา และพร้อมในการเป็นที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"
"และในปีนี้ อพท.เริ่มต้นอบรมหลักสูตร "การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชน เชิงบูรณาการ (Certificate in CBT Integrated)" ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว 9 เขต มีบุคลากรสำคัญ จำนวนกว่า......คน เข้ารับวุฒิบัตรจากการสำเร็จการอบรมหลักสูตร "การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชน เชิงบูรณาการ (Certificate in CBT Integrated)" ซึ่งจากการร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ เรียนรู้การบริหารจัดการองค์ความรู้ในพื้นที่ การนำเสนออัตลักษณ์ชุมชน เพื่อนำประโยชน์ไปเผยแพร่ ปรับใช้ถ่ายทอดพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน" พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ อพท.โดยศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ DASTA Academy จะมีการดำเนินงานขยายผลการเผยแพร่องค์ความรู้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคีเครือข่ายแห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยว ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างเข้มแข็ง และอาจครอบคลุมในพื้นที่ทั่วประเทศไทยในอนาคต
...
สำหรับมหาวิทยาลัย 19 แห่ง ที่เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง คือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์