คำสั่งยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านในการติดต่อราชการ ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ตามนโยบายบิ๊กตู่ น่าจะลดความยุ่งยากสำหรับประชาชนในการเตรียมเอกสาร ไม่ต้องถ่ายเอกสาร เสียเงินเสียทองอีกต่อไปในยุคนี้!! เพียงแค่มีบัตรประชาชน ก็สามารถใช้บริการได้แล้ว

ส่วนความพร้อมของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ กรม กอง ต่างๆ จะขานรับตอบสนองต่อนโยบายนี้ได้ดีหรือไม่? ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 ข้อที่ 17 ต้องติดตาม ก่อนเดินหน้าต่อในเฟส 2 การยกเลิกสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลในเดือนตุลาคมปีนี้อีกต่อไป และสู่การประเมินการใช้บริการหน่วยงานราชการของประชาชนว่าเกิดความพึงพอใจอย่างไร? ผ่านระบบ Citizen Feedback

เพราะล่าสุดปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือเวียนถึง ปลัดกรุงเทพมหานคร, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ปลัดกระทรวง, และหน่วยงานไม่สังกัดกระทรวง เรื่องการยกเลิกสำเนาเอกสารทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชน ตามคำสั่ง คสช. และมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2561 โดยให้กำชับผู้อยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ให้ปฏิบัติโดยเคร่งครัด และขอความร่วมมือหน่วยงาน ปักหมุดพิกัดตำแหน่งสถานที่ราชการ ตามโครงการยกเลิกสำเนาเอกสาร (No Copy) อย่างเคร่งครัด

ด้านสุชาติ ธานีรัตน์ รักษาการในตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารงานทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ ว่า ภาพรวมส่วนใหญ่มีความพร้อม โดยเฉพาะงานทะเบียนทั่วไป คำร้องต่างๆ ได้ยกเลิกมานานแล้วในการใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ยกเว้นงานทะเบียนสมรส กรณีอายุไม่ถึง 17 ปี และ 20 ปี ต้องมีเอกสารอื่นประกอบ เป็นการยินยอมจากผู้ปกครอง

“จริงๆ แล้วการยกเลิกสำเนาดังกล่าว ไม่ใช่เพียงภาครัฐ แต่มีภาคเอกชน เช่นแบงก์ ได้ทำมาระยะหนึ่งในการเปิดบัญชี โดยรัฐบาลมีนโยบายมองไกลถึงขนาดจะลดการใช้สำเนาเอกสารทุกชนิด เพียงถือบัตรประชาชนใบเดียวยืนยันตัวตนก็พอแล้ว ยกเว้นบางข้อมูลต้องตรวจสอบ ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว หรือยกตัวอย่าง การตรวจสอบหมายจับ หรือฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับด้านความมั่นคง”

...

ส่วนปัญหาต้องยอมรับว่าส่วนราชการต่างๆ ติดขัดในเรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชัน มีนักวิชาการทางคอมพิวเตอร์ 2 พันกว่าคน หากเทียบกับข้าราชการที่มีล้านกว่าคน ซึ่งต้องจ้างอาท์ซอร์สภาคเอกชน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อีกทั้งเครื่องสแกนลายนิ้วมืออ่านบัตรประชาชนมีเพียง 2 แสนกว่าเครื่อง ซึ่งไม่เพียงพอเนื่องจากติดปัญหาแนวทางปฏิบัติการจัดหาครุภัณฑ์ ตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง หากเป็นพัสดุจะสามารถจัดซื้อได้ง่ายเนื่องจากในความเป็นจริงแล้วเครื่องอ่านบัตรประชาชนมีราคาไม่แพง ไม่ถึง 200 บาท

นอกจากนี้ที่ผ่านมาเครื่องอ่านบัตรดังกล่าว ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซื้อมาให้กระทรวงมหาดไทยมีปัญหาด้านซอฟต์แวร์ เพราะผู้ผลิตเป็นเจ้าเดียวในโลก ทำให้อุปกรณ์ค่อนข้างแพง จึงพยายามหาซื้อซอฟต์แวร์ที่ถูกกว่ามาใช้

อย่างไรก็ตามเป้าหมายแรกในการลดใช้สำเนา ยืนยันสามารถทำได้ ก่อนเริ่มเข้าสู่เฟส 2 โดยกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2558 โดยเฉพาะสำนักทะเบียน 200 กว่าแห่ง มีความพร้อมมากในการให้บริการเรื่องคำร้องต่างๆ ทั้งนี้ยังติดปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องกฎหมาย เกี่ยวกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งแม้ คสช.ได้ออกคำสั่งที่ 21/2560 ข้อที่ 17 แต่เห็นว่าเป็นการมองแต่ภาคธุรกิจ จึงอยากเสนอให้ออกมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรค

ทั้งนี้จะต้องติดตามดูความพร้อมของหน่วยงานอีกครั้งประมาณสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะต้องรายงานมาว่าเกิดปัญหาใดในส่วนราชการต่างๆ เบื้องต้นมีความพร้อมประมาณ 80% ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งออกมา โดยมีเพียง 17-20% ยังมีปัญหาเอกสารเรื่องกระบวนการของงาน อาทิ เอกสารที่ต้องมีการรับรอง เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน และเรื่องของข้อกฎหมาย.