เริ่มสัญญา 2572 ถึง 2602-ได้รายได้ค่าโดยสารสายเก่า+ส่วนขยาย
ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด เมื่อเช้าวันที่ 3 ส.ค. นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัด กทม. เป็นประธานเปิดการสัมมนาประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding Seminar) เพื่อนำมาประกอบการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)
โดยนายสมพงษ์กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ งานด้านโยธาได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว เหลืองานติดตั้งระบบเดินรถ ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 ส่วนช่วงเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการปี พ.ศ.2563 การสัมมนาครั้งนี้ กทม.เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาในทุกๆด้าน ทั้งความเป็นไปได้ของการลงทุน ปัญหาอุปสรรค และรูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสม เพื่อนำไปประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาการศึกษา รวมถึงใช้เวลาในกระบวนการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐประมาณ 6-9 เดือน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการสัมมนาระบุว่า ในส่วนการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้โครงการ เอกชนจะสามารถจัดเก็บรายได้จากอัตราค่าโดยสารตามระยะทางตลอดสายระหว่างปี 2572-2602 ทั้ง 3 ช่วง ได้แก่ แนวเส้นทางหลัก แนวเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และแนวเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 2 นอกจากนี้ เอกชนสามารถจัดเก็บรายได้อื่นๆจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อาทิ ค่าโฆษณาบนขบวนรถไฟฟ้าและสถานี รายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ขณะที่การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร (เที่ยว/ วัน) ในปี 2562 ช่วงเขียวเหนือยังไม่เปิดให้บริการ ส่วนช่วงเขียวใต้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 97,100 เที่ยวคนต่อวัน มีรายได้ประมาณ 2,868 ล้านบาทต่อปี
...
ในปี 2564 ช่วงเขียวเหนือ คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 250,200 เที่ยวคนต่อวัน ช่วงเขียวใต้มีผู้โดยสาร 106,500 เที่ยวคนต่อวัน มีรายได้ประมาณ 5,703 ล้านบาทต่อปี ปี 2569 ช่วงเขียวเหนือจะมีผู้โดยสาร 300,800 เที่ยวคนต่อวัน ช่วงเขียวใต้จะมีผู้โดยสาร 129,600 เที่ยวคนต่อวัน มีรายได้ 9,616 ล้านบาท ปี 2574 ช่วงเขียวเหนือจะมีผู้โดยสาร 372,300 เที่ยวคนต่อวัน ช่วงเขียวใต้จะมีผู้โดยสาร 161,800 เที่ยวคนต่อวัน มีรายได้ 14,014 ล้านบาท ปี 2584 ช่วงเขียวเหนือจะมีผู้โดยสาร 411,300 เที่ยวคนต่อวัน ช่วงเขียวใต้จะมีผู้โดยสาร 178,800 เที่ยวคนต่อวัน จะมีรายได้ 20,583 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาสัญญาโครงการประกอบด้วย 1.มูลค่าลงทุนโครงการ 127,000 ล้านบาท 2.ค่าดำเนินงาน (2572-2602) 1,000-4,000 ล้านบาทต่อปี และ 3.ค่าบำรุงรักษา (2572-2602) 1,500-3,500 ล้านบาทต่อปี.