'ดร.สมิทธ' ยอมรับปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์-ภูมิพล มากกว่าช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 54 จับตา!! พายุเข้าในช่วง ส.ค.-ก.ย. อาจเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ห่วงชาวอีสาน พื้นที่ใกล้น้ำโขงรับน้ำจากจีน จนน้ำใกล้ทะลัก แนะจับตาระดับใกล้ชิด...
วันที่ 3 ส.ค.61 ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา เปิดเผยข้อมูลสำคัญกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ว่าขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ สูงเกินปริมาณที่จำกัด รวมทั้งเขื่อนภูมิพลที่มีปริมาณน้ำเต็ม ซึ่งถือว่าปริมาณน้ำมากกว่าปี 2554 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งระบายน้ำกันอยู่ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงมาก
สำหรับพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง คือจังหวัดแถบภาคอีสาน-เหนือตอนบน รวมทั้งจังหวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำโขง เนื่องจากมีปริมาณน้ำในแม่น้ำสูงมาก เพราะมีน้ำจากประเทศจีนมาหนุน ส่งผลให้แม่น้ำโขงมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งต้องจับตามองระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน เนื่องจากตอนนี้น้ำในแม่น้ำโขงกำลังทะลัก เพราะเกิดฝนตกหนักบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก
...
"หากถามว่า น้ำจะท่วมหนักเหมือนปี 54 ไหม คงต้องรอดูว่าถ้าเขื่อนไม่แตกหรือไม่มีพายุเข้า ช่วง 1-2 เดือนนี้ โอกาสท่วมหนักก็จะน้อยหรืออาจไม่เกิด ซึ่งกรมอุตุฯ ก็ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีพายุเข้ามา เพราะมีแนวโน้มว่าพายุจะก่อตัวขึ้นจากมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเข้ามาจากทะเลจีนใต้ อาจส่งผลให้ฝนตกในประเทศไทยเพิ่มขึ้น หากช่วงนั้นน้ำในเขื่อนยังเยอะอยู่ แล้วการระบายน้ำไม่ดี ก็อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ได้"
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บางเขื่อนที่กักเก็บน้ำไว้ ก็มีปริมาณค่อนข้างเต็ม แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมา ซึ่งกลัวว่าน้ำจะไม่พอในหน้าแล้ง แต่ถ้าหลังจากนี้มีการเก็บน้ำไว้มากไป และหากเกิดมีพายุเข้าลูกใหญ่ หรือฝนตกหนักต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมได้อีกเช่นกัน
สำหรับการเตรียมรับมือต่อจากนี้ ประชาชนต้องคอยฟังข่าวสารข้อมูล การพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมตัวไว้ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลุ่ม ควรเก็บของไว้บนที่สูง ควรศึกษาเส้นทางอพยพหากเกิดน้ำท่วม รวมทั้งประชาชนที่บ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำลำธาร อย่านำสิ่งของเก็บไว้ใกล้น้ำ ให้เก็บไว้บนที่สูง
ทั้งนี้ อยากให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ ให้ข้อมูลกับประชาชนทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง ให้รู้การเคลื่อนไหวระดับน้ำของทั่วประเทศ และควรให้ข้อมูลเป็นรายวันตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนหน้า เนื่องจากหน่วยงานจะมีเรดาร์ครอบคลุมประเทศอยู่แล้ว โดยข้อมูลพวกนี้ควรต้องแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อให้รู้ว่าควรอพยพไปที่ใด หรือเก็บข้าวของช่วงไหน เพื่อที่จะได้เตรียมรับมือไว้ได้ทัน.