แฟ้มภาพ

เริ่มค่ำนี้ห้ามขายบนทางเท้า-ผู้ค้าย้อนทำข้าวสารดังเองรัฐไม่เคยช่วย

ที่ศาลาว่าการ กทม. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. เวลา 10.00 น. น.ส.ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมผู้ค้าแผงลอยเสรีถนนข้าวสาร นำผู้ค้าแผงลอยกว่า 100 ราย มาขอเข้าพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอให้ชะลอคำสั่งการจัดระเบียบถนนข้าวสารตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ ที่ กทม.ห้ามตั้งวางแผงค้าบนฟุตปาท และกำหนดให้ผู้ค้าที่ตั้งแผงค้าบนทางเท้าในถนนข้าวสารลงไปขายบนผิวจราจร ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. โดย น.ส.ญาดา กล่าวว่า นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.พร้อมคณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจถนนข้าวสาร เพื่อเตรียมจัดระเบียบแผงค้า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา และได้ประกาศจัดระเบียบพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ค้าได้มีส่วนร่วมในการจัดระเบียบ ขณะเดียวกัน กทม.จะยกเลิกแผงค้าที่ถนนรามบุตรี และให้ผู้ค้าย้ายเข้ามาขายบนถนนข้าวสาร ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ค้า

น.ส.ญาดากล่าวว่า ผู้ค้าไม่ต้องการให้การจัดระเบียบมาทำลายภาพลักษณ์ที่ผู้ค้าร่วมกันสร้างขึ้นเอง จนกลายเป็นถนนที่มีชื่อเสียง ที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยจัดสรรงบมาพัฒนาพื้นที่ แต่เป็นกลุ่มผู้ค้าเองที่ได้ร่วมกันพัฒนา เช่น ร่วมกันจ้างรถทำความสะอาดถนนข้าวสาร ดังนั้น จึงขอให้ กทม.ชะลอคำสั่งจัดระเบียบ หรือให้ยกเลิกคำสั่งจัดระเบียบ พื้นที่ถนนข้าวสาร หาก กทม.ยังยืนยันเดินหน้าจัดระเบียบจะรวบรวมข้อมูล ยื่นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมา พล.ต.อ.อัศวิน เดินทางมาพบกลุ่มผู้ค้าและกล่าวว่า ตนเห็นใจผู้ค้า แต่ผู้ค้าก็ต้องเห็นใจประชาชนผู้ใช้ทางเท้า ทางเท้าชื่อก็ระบุว่าเป็นทางเดินเท้าไม่ใช่ทางขายของ จากนั้นได้มอบหมายให้นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. ร่วมประชุมกับกลุ่มผู้ค้าแผงลอย เพื่อหาข้อยุติ

...

ต่อมา นายสกลธีเปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้ค้าว่า ผู้ค้าเสนอขอขายบนทางเท้าเหมือน เดิม แต่ กทม.ปฏิเสธและยังยืนยันว่า ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ กทม.จะจัดระเบียบถนนข้าวสาร โดยให้ผู้ค้าลงไปขายบนผิวจราจร โดยเว้นช่องจราจรสำหรับ รถฉุกเฉินด้วย ซึ่ง กทม.ได้ประสานกับตำรวจ นครบาลในการออกข้อบัญญัติปิดถนนเป็นการชั่วคราวตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น.แล้ว เบื้องต้นจำนวนผู้ค้าถนนข้าวสารมีประมาณ 200 กว่าราย ส่วนกรณีที่ผู้ค้าระบุว่า กทม.ไม่เคยเปิดโอกาสให้ผู้ค้ามีส่วนร่วมในการจัดระเบียบ นายสกลธีชี้แจงว่า โครงการจัดระเบียบถนนข้าวสารมีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 ระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ กทม.เป็นเพียงฝ่ายปฏิบัติ และคงมีการพูดคุยกันมาในระดับหนึ่งแล้ว เพียงแต่ผู้ค้ายื่นเงื่อนไขอยากขายบริเวณทางเท้าต่อ ซึ่ง กทม.คงให้ไม่ได้ ทั้งนี้ ภายหลังการจัดระเบียบถนนข้าวสาร กทม.จะจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำจุด ดูแลพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบาย หากผู้ค้ายังไม่ปฏิบัติตาม เบื้องต้น กทม.คงต้องพูดคุย ขอร้องกันก่อน โดยยังไม่ใช้อำนาจตามกฎหมาย.