นี่ไม่ใช่ครั้งแรก! เขื่อนลาวแตกมาแล้ว 3 ครั้ง ในรอบ 3 ปี ชี้ สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินประชาชนชาวลาวไม่น้อย บั่นทอนเป้าหมาย ฉายา "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย"

จากเหตุ เขื่อนย่อย (subsidiary dam) ของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสักและอัตตะปือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ สปป.ลาว แตกเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 23 ก.ค. จนมวลน้ำกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้านต่างๆ ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 20 ราย และมีผู้สูญหายกว่า 100 คน และชาวบ้านมากกว่า 6,600 คนต้องกลายเป็นคนไร้บ้านนั้น 

การสร้าง ‘ปราการชล’ เพื่อขวางทางน้ำนั้นเปรียบเสมือน ‘การเดินสวน’ กับธรรมชาติ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ลาวได้ประสบกับเหตุ ‘เขื่อนแตก’ มาแล้วถึง 3 ครั้ง ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ขอพาทุกท่านไปย้อนรอยกับเหตุการณ์ดังกล่าว กับวิกฤติทางธรรมชาติของ สปป.ลาว กับประเทศที่ ต้องการให้ประเทศตัวเองถูกขนานนามว่าเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย"

...

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งรัฐบาลของเขา ก็มุ่งหวังให้ประเทศเกิดการพัฒนา โดยการมองไปถึงทรัพยากรที่สามารถใช้งานได้ อย่าง ‘ทรัพยากรน้ำ’ ซึ่ง สปป.ลาว มีอย่างอุดมสมบูรณ์ไม่ขาดสาย สิ่งหนึ่งที่เป็นโครงการ ‘บิ๊กโปรเจกต์’ ได้แก่ โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าในลาว โดยการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน จนได้รับฉายาว่า “แบตเตอรี่ของเอเชีย” ซึ่งปัจจุบันลาวได้มีเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อโครงการดังกล่าวอยู่อีกหลายแห่ง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ปี 2559 เกิดเหตุอุโมงค์ของเขื่อน 'เซกะมาน 3' แตก ทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่บ้านดายรัง เมืองดากจึง แขวงเซกอง สำหรับเขื่อนเซกะมาน 3 ได้ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2557 โดยบริษัท Songda ของประเทศเวียดนาม วัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า มีกำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์ โดยเขื่อนดังกล่าวแตกในระหว่างการผลิตกระแสไฟฟ้า

เหตุการณ์เขื่อนแตกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ที่เขื่อนน้ำอ้าว เมืองผาชัย แขวงเซียงขวาง ของบริษัท บ่อทอง อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด มีกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ แตก และขณะที่เขื่อนน้ำอ้าวแตกนั้นอยู่ในช่วงที่ดำเนินการก่อสร้างได้ ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 80% ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

และมาถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมานี้เอง เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสักและอัตตะปือ ทางตะวันออกเฉียงใตัของ สปป.ลาว ได้ประสบเหตุเขื่อนแตก ในบริเวณอำเภอสันทราย แขวงอัตตะปือ ทำให้มวลน้ำมหาศาลนับ 5,000 ล้านลูกมาศก์เมตร ไหลบ่าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้มีคนตายแล้ว 20 ราย สูญหายนับ 100 คน และเกรงว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง 

โดยเขื่อนดังกล่าวมีกำลังติดตั้งที่ 410 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 1,804 กิกะวัตต์/ปี โดยจะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 และที่เหลือจะขายให้แก่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว

...

ความพ่ายแพ้ของ ‘กำแพงซีเมนต์’ ต่อ ‘สายชลธี’ ถึง 3 ครั้ง ในรอบ 3 ปี ของ สปป.ลาว กลายเป็นชนวนให้ประชาชนในประเทศเริ่มตั้งคำถามถึงมาตรฐานการก่อสร้าง และดูแลเขื่อนของหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงการตรวจสอบเพื่อวัดคุณภาพในองค์รวมต่างๆ เนื่องจากการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง และชาวลาวหลายๆ คนร่วมถกกันว่า สปป.ลาว ‘พร้อม’ หรือยังที่จะเป็น “แบตเตอรี่ของเอเชีย”.