สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย 27-28 ก.ค. นี้ ชวนคนไทยร่วมจับตา 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ดาวอังคารตรงข้ามดวงอาทิตย์ - จันทรุปราคาเต็มดวง - ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี...
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยคืนวันอาสาฬหบูชา เกิด 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตาม ตลอดคืน 27 ถึงรุ่งเช้า 28 กรกฎาคม 2561 ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ ก่อนโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี ทำให้สว่างมากและมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ คืนเดียวกันยังเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 2 ในรอบปี คราสเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที นานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี เชิญชวนคนไทยชม 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พร้อมเครือข่าย 360 แห่งทั่วประเทศ
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า คืนวันที่ 27 กรกฎาคม 2561 เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสังเกตการณ์ดาวอังคาร ที่จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ อาทิตย์ หลังจากนั้นจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่ระยะห่าง 57.6 ล้านกิโลเมตร จากระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร เป็นการโคจรใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ดาวอังคารจะสว่างมากและมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ สังเกตเห็นได้หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดทั้งคืนไปจนถึงรุ่งเช้าในวันถัดไป
...
ผู้อำนวยการ สดร.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หลังเที่ยงคืน 27 กรกฎาคม 2561 ยังเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ครั้งที่ 2 ในรอบปี 2561 คราสเต็มดวงพาดผ่านทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา บางส่วนของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และขั้วโลกใต้ สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตการณ์ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลา 00.14 – 06:10 น. (ตามเวลาในประเทศไทย)
“สำหรับประเทศไทยสามารถเห็นคราสเต็มดวง ตั้งแต่เวลา 02.30 – 04.13 น. นานถึง 1 ชั่วโมง 43 นาที นับเป็นจันทรุปราคาที่เต็มดวงยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นจันทรุปราคาในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 406,086 กิโลเมตร นับเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่ดวงจันทร์สีแดงอิฐมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย” ดร.ศรัณย์ ย้ำความพิเศษของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งนี้
สดร. กำหนดจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลกและจันทรุปราคาเต็มดวง คืนวันที่ 27 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 18.00 – 04.30 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่
1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 086-4291489
3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264
4) สงขลา : ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา โทร. 095-1450411 และเครือข่ายดาราศาสตร์ 360 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง www.NARIT.or.th
...
นอกจากนี้ คืนดังกล่าวยังมีวัตถุท้องฟ้ามากมายให้สังเกตการณ์ อาทิ ดาวศุกร์ในช่วงเวลาหัวค่ำปรากฏทางทิศตะวันตก ตามด้วยดาวพฤหัสบดีปรากฏทางทิศใต้ในมุมสูงบริเวณกลุ่มดาวคันชั่ง และดาวเสาร์ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ตลอดจนจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น แนะนำการดูดาวเบื้องต้น เรียนรู้ท้องฟ้าและกลุ่มดาวต่าง ๆ รวมทั้งถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่ 00.00 – 04.30 น. อีกด้วย.