ก.แรงงาน ออกมาตรการช่วยคนจบปริญญาตรีว่างงาน 1.7 แสนคน ตั้ง 11 ศูนย์ OSS จัดหางานป้อน วางเป้า 1 แสนคนมีงานทำใน 3 เดือน เดินหน้าปรับทัศนคติ ให้เด็กเลือกเรียนสายอาชีพ ไม่เรียนตามกระแสนิยม เผยสายศิลป์-สังคม ตกงานสูง
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวหลัง เป็นประธานการประชุมแนวทางแก้ไขการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร่วมกับ 22 หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ว่า ข้อมูลการมีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือน พ.ค. 2561 มีคนว่างงานที่จบปริญญาตรีมากที่สุด 170,900 คน กระทรวงแรงงานเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ไข ต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีสาเหตุหลัก อาทิ การเปลี่ยนงานบ่อย รองานเนื่องจากลาออกจากงานเดิม การเลือกเรียนและจบในสาขาที่ไม่ตรงกับตลาดแรงงาน เลือกเรียนตามกระแส ค่านิยม หรือเรียนตามเพื่อน เลือกงานหรือต้องการทำงานที่สบาย และเงินเดือนสูงๆ รวมทั้งพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานที่อยู่ในกรอบ
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า มีแนวทางแก้ไขปัญหาว่างงานของผู้จบปริญญาตรีซึ่งกำหนดไว้ 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนภายใน 3 เดือน ได้แก่ 1. แนะแนวอาชีพและส่งเสริมอาชีพอิสระ ให้บัณฑิตมีงานทำ มีรายได้ จำนวน 2,000 อัตรา 2. จับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับนายจ้างสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย เว็บไซต์ http//:smartjob.doe.go.th และ Job box ของกรมการจัดหางาน 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) 4,500 อัตรา จัดนัดพบแรงงานในสถานศึกษา (Job Fair) 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในเครือข่าย อาทิ JobDB, BKK job, Jobtopgun, Adecco รวม 28,000 อัตรา ความร่วมมือกับ Line Jobs เพิ่มช่องบริการรับสมัครงานผ่านไลน์ 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในต่างประเทศอีก 500 อัตรา และ 3. กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะบูรณาการกับสถานศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะ (Up skill/Re-skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพเพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ในหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรมอย่างน้อย 10 วัน อาทิ หลักสูตรภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล อินโฟกราฟิก เทคนิคการนำเสนอ เป็นต้น เป้าหมาย 5,000 คน
...
"ในระยะสั้น 3 เดือน จะให้คนตกงาน ได้มีงานทำก่อน โดยจะตั้งศูนย์วันสตอปเซอร์วิสจัดหางานให้คนจบปริญญาตรีในทุกภาค 11 ศูนย์ จะมีการบูรณาการร่วมกับหลายฝ่าย ส่วนระยาวภายใน 1-2 ปี จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการแนะแนวอาชีพให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมทั้งปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนระหว่างภาครัฐด้วยกันและภาคเอกชน การสร้าง จิตสำนึกนักเรียน นักศึกษา และครอบครัวให้มีทัศนคติในการเลือกศึกษาต่อหรือเลือกประกอบอาชีพตามความรู้ ความสามารถ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว ปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเพิ่มทักษะด้านความรู้ความสามารถและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งการขยายความร่วมมือกับโรงงานและสถานประกอบการในรูปแบบทวิภาคีตามโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้มีงานทำในสถานประกอบการ ควบคู่ไปกับการศึกษาต่อ ในสถานศึกษา ช่วยให้มีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น และมีรายได้ระหว่างเรียนอีกด้วย" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว