เผยที่มา ฐานความผิด ‘ปลอมพระปรมาภิไธย’ ที่ทำให้พระพุทธะอิสระต้องสละผ้าเหลือง เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ในฐานะผู้ต้องหาฝากขัง

วันที่ 24 พ.ค. ภายหลังศาลไม่ให้ประกันตัวพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวฝากขังในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ อั้งยี่ ซ่องโจร และอีกสำนวนคือ “ปลอมพระปรมาภิไธย”

ทั้งนี้ คดีมีการ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.60 นายวิชัย ประเสริฐสุดสิริ ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ที่นำอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. มาประดิษฐานหลังองค์พระเครื่องโดยไม่ได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยนายวิชัย ผู้กล่าวหา ได้ตรวจพบทางเว็บไซต์ว่าพระเครื่องดังกล่าว มีการสร้างเมื่อช่วงเข้าพรรษาปี 2554 บรรจุปรอทเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2554 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สร้างพระสำเร็จ ผู้กล่าวหาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ปลอมขึ้นซึ่งพระปรมาภิไธย และใช้พระปรมาภิไธยที่มีการปลอมขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 250, 252

...

โดยมีการสอบสวนพยานบุคคล พร้อมทั้งตรวจสอบไปยัง สำนักพุทธศาสนา ยืนยันตรงกันว่า ผู้ต้องหาไม่ได้รายงานขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามกฎระเบียบของมหาเถรสมาคม และจากการสอบสวนพยานบุคคลเจ้าหน้าที่ กรมราชเลขานุการในพระองค์ ยืนยันว่าผู้ต้องหาไม่ได้ขออนุญาตใช้พระปรมาภิไธยย่อ และอักษรย่อพระนามาภิไธย ตามพฤติการณ์และพยานหลักฐาน จึงยืนยันว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้สร้างพระนาคปรก อุดปรอท รุ่นหนึ่งในปฐพี ที่เป็นปัญหาในคดีนี้จริง โดยไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย และอักษรพระนามาภิไธยย่อ ไปประดิษฐานหลังองค์พระเครื่องดังกล่าว เหตุเกิดที่วัดอ้อน้อย ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ระหว่างปี 2554 – 15 ส.ค.2554

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาฐาน “ปลอมขึ้นซึ่งพระปรมาภิไธย และใช้พระปรมาภิไธยที่มีการปลอมขึ้น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 250, 252 ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยขอให้การในชั้นศาล ขณะที่การฝากขังคดีนี้ พนักงานสอบสวนระบุว่า หากผู้ต้องหาขอปล่อยชั่วคราวในชั้นศาล ก็ขอให้เป็นดุลยพินิจของศาล

ทั้งนี้ ศาลอาญาพิจารณาคำร้องฝากขังทั้ง 2 คดีแล้ว ผู้ต้องหาไม่คัดค้าน อนุญาตให้ฝากขังได้ทั้ง 2 สำนวน

ก่อนที่ศาลจะพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง มีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคน เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยาน จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้พระพุทธะอิสระต้องสึกจากการเป็นพระทันที.