กรุงเทพฯ สยอง หนูทะลักเมืองมากกว่าล้านตัว เหตุอาหารอุดมสมบูรณ์ แมวไม่ทำหน้าที่ ซ้ำงูจะมาช่วยกินก็ถูกจับปล่อยป่าหมด สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เผย กทม.ส่งงูเหลือมมาให้เอาไปปล่อยเกือบทุกวัน แค่ปีเดียว 5.5 พันตัว พบที่เขตยานนาวาเยอะสุด

ปัญหาหนูในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่อาจมีมากนับล้านตัว และส่อสร้างปัญหาให้คนกรุงในอนาคตในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานแผนการดำเนินการแก้ปัญหาสัตว์ป่าว่า ปี 2560 มีประชาชนร้องเรียนเรื่องสัตว์ป่าเข้าไปรุกรานบ้านและที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงูเหลือม พบว่าเจ้าหน้าที่จากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปพ.) ของ กทม.ได้นำเอางูเหลือมที่จับได้จากพื้นที่ต่างๆ ใน กทม.มาส่งให้เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อนำไปปล่อยป่ามีมากถึง 4,519 ตัว นอกจากนี้ ยังมีงูทางมะพร้าว 28 ตัว งูสิง 20 ตัว งูเขียวพระอินทร์ 19 ตัว งูเขียวหางไหม้ 7 ตัว งูแสงอาทิตย์ 4 ตัว และงูอื่นๆ รวมทั้งหมด 4,612 ตัว โดยพื้นที่ที่นำงูมาส่งมากที่สุดคือ ยานนาวา 786 ตัว หัวหมาก 627 ตัว และบางขุนนนท์ 608 ตัว โดยในปี 2561 ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน เม.ย. จับงูและตัวเหี้ยได้รวม 913 ตัว เป็นงูเหลือม 881 ตัว ตัวเหี้ย 18 ตัว ที่เหลือเป็นงูอื่นๆ เช่น งูเขียวหางไหม้ 10 ตัว งูสิง 9 ตัว เป็นต้น โดยพื้นที่ที่จับงูเหลือมได้มากที่สุดคือ เขตหัวหมาก ในระยะเวลา 4 เดือนจับได้ 142 ตัว บางขุนนนท์ 114 ตัว ยานนาวา 70 ตัว จันทรเกษม 50 ตัว และดินแดง 33 ตัว เป็นต้น

นายศุภากร ปทุมรัตนาธาร รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า สาเหตุที่พบหนูตามบ้านเรือนใน กทม.เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี เป็นเพราะพฤติกรรมของคนโดยตรง เริ่มจากการเลี้ยงแมว แต่ไม่ชอบให้แมวจับหนู แค่แมวจับจิ้งจกก็ถูกเจ้าของดุแล้ว ทุกวันนี้แมวที่เลี้ยงไว้ตามบ้านจึงแทบจะไม่จับหนูเป็นอาหารเลย จะกินเฉพาะอาหารเม็ด ประกอบกับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ทุกวันนี้มักจะซื้อกับข้าวถุงจากตลาดมารับประทานแทนการปรุงอาหารกินเอง เมื่ออาหารเหลือทิ้งไว้ในถังขยะก็จะมีหนูบ้านเข้ามาหาของกินในถังขยะนั้น ซึ่งพื้นที่แหล่งอาหารของหนูในถังขยะในกรุงเทพฯถือว่าอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประชากรหนูบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

...

“หนูจะผสมพันธุ์และตั้งท้องโดยใช้เวลาเพียง 25 วัน ถึงจะออกลูกครั้งละ 6-8 ตัว คือ พวกมันมีลูกดกมาก สมัยก่อนศัตรูของหนูพวกนี้คือแมวบ้าน บ้านไหนเลี้ยงแมว รับรองเลยว่าบ้านนั้นจะไม่มีหนูอย่างเด็ดขาด แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว แมวไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน สัตว์อีกชนิดที่จะมากินหนูคือ งู โดยเฉพาะงูเหลือม พวกมันตามกลิ่นหนูมาอยู่ตามบ้านเรือนและทุกที่ที่มีหนูอยู่ ที่ไหนมีหนูมากที่นั่นก็มีงูมากเช่นกัน เหมือนกับว่างูในสมัยนี้มาทำหน้าที่กำจัดหนูแทนแมวในสมัยก่อน สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากเมื่อปริมาณหนูเพิ่มมากขึ้นคือ เชื้อโรคที่จะมากับหนู เช่น ฉี่หนู กาฬโรค เป็นต้น หากมองหนูเป็นขยะ ขณะนี้ทุกคนกำลังช่วยกันเอาถังขยะออก เพราะในเมื่อแมวไม่ทำหน้าที่กำจัดหนูแล้ว พวกงูทั้งหลายก็จะเข้ามากินหนูแทน ขณะที่พวกเราเองก็พากันรังเกียจงู เจองูที่ไหนตีที่นั่น แล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่ไปเก็บ กรมอุทยานฯเมื่อได้รับแจ้งก็ต้องออกไปจัดการจับงูเหล่านั้นออกไปปล่อยพื้นที่ป่า นี่คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุคือ พฤติกรรมการกินทิ้งกินขว้างของคน การจัดการขยะที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้อาหารของหนูอุดมสมบูรณ์มาก

นายศุภากรกล่าวอีกว่า งูเหลือมที่จับมาช่วงประมาณ 1 ปี กับ 4 เดือน ที่ผ่านมา 5,542 ตัว งูเหล่านี้น่าจะสามารถกินหนูได้ราว 6 แสนตัวต่อปี หมายความว่าเมื่องูถูกจับออกไป ศัตรูของหนูลดลง ขณะที่ปริมาณอาหารไม่ได้ลดลงและอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ปีต่อๆไปหนูจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเท่าใด เวลานี้เชื่อว่าในกรุงเทพฯน่าจะมีปริมาณหนูบ้านมากกว่า 1 ล้านตัวอย่างแน่นอน