พส.สอบผ้าห่มแพง

สรุปผลสืบสวนข้อเท็จจริงทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตถึงมือปลัด ศธ.เผยมีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการทั้งที่ยังรับราชการและพ้นจากหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกระทำความผิด ส่งผลให้ราชการเสียหาย 25 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นบิ๊กข้าราชการระดับ 8-11 จำนวน 7 ราย ส่วนผู้เกี่ยวข้องสังกัดอื่น ป.ป.ท.อยู่ระหว่างสอบปากคำ ขณะที่เรื่องฉาวในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ยังมีต่อเนื่อง ล่าสุด อธิบดี พส. จ่อตั้ง คกก. สอบข้อเท็จจริงศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สิงห์บุรีซื้อผ้าห่มแพงแถมห่วยแจกชาวบ้าน

หลังใช้เวลาในการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตมาระยะหนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ว่า ได้รับการเปิดเผยจากนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ว่าขณะนี้คณะกรรมการสืบสวนฯได้สรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ เสนอให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ได้พิจารณาแล้ว โดยจากการสืบสวนพบว่ามีผู้ที่ควรกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทำให้ราชการเสียหาย เป็นบุคลากรสังกัด ศธ.ทั้งหมด จำนวน 25 คน ในจำนวนดังกล่าวมีทั้งผู้ที่รับราชการอยู่และพ้นจากราชการไปแล้ว ที่สำคัญเป็นข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับ 8-11 ถึง 7 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่ควรถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ, กลุ่มไม่ปฏิบัติตามแบบแผนและธรรมเนียมของทางราชการ, กลุ่มที่ทุจริตถึงแม้จะไม่ใช่หน้าที่, กลุ่มรายงานเท็จต่อ

ผู้บังคับบัญชา และกลุ่มประมาทเลินเล่อ แต่ส่วนใหญ่ผิดอยู่ในฐานประมาทเลินเล่อ ทั้งนี้ เมื่อมีการเสนอให้ ปลัด ศธ.แล้วขั้นตอนต่อไปคือ ดำเนินการรายบุคคล ตามความผิดที่พบว่าจะดำเนินการอย่างไรกับใครบ้าง อย่างบุคคลที่พ้นจากราชการแล้วก็จะใช้เอกสารหลักฐานที่ชี้มูลความผิดดำเนินการทางแพ่ง รวมถึงดำเนินการความผิดทางละเมิด ส่วนข้าราชการในสังกัดอื่นๆ ทางคณะกรรมการสืบฯ ไม่ได้ดำเนินการชี้มูลความผิดเพราะทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังอยู่ระหว่างเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามข้อมูล และพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

...

ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการสืบหาบัญชีที่ไม่ทราบเจ้าของ 68 บัญชี ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยกำลังเร่งหาข้อมูลจากสาขากว่า 40 สาขา ซึ่งเมื่อคณะกรรมการสืบฯได้ข้อมูลในส่วนนี้แล้ว อาจจะทำให้ทราบว่ามีผู้กระทำผิดที่เป็นข้าราชการเพิ่มอีกหรือไม่ หากพบก็จะดำเนินการต่อ นอกจากนี้ทางสถานศึกษาบางแห่งก็ยังไม่ได้ส่งสเตตเมนต์หรือรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี ฉบับสมบูรณ์มาให้ โดยอ้างว่าส่งรายการสเตตเมนต์ตามที่คณะกรรมการสืบฯขอในบางส่วน ซึ่งตนคิดว่าส่วนหนึ่งทางสถานศึกษาอาจจะไม่ต้องการให้เห็นสเตตเมนต์ เพราะที่ผ่านมาระบบการโอนเงินไม่มีความเข้มงวด ดังนั้นการโอนเงินของบางสถานศึกษาก็ถูกโอนเข้าบัญชีอื่นๆ เช่น บัญชีเงินสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ บัญชีเงินรายได้สถานศึกษา บัญชีเงินค่าสมัครสอบ เป็นต้น ทำให้คณะกรรมการสืบฯตั้งข้อสงสัยว่าเงินที่โอนไปนั้นนำไปใช้กับเด็กตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหรือไม่ คงต้องสืบสวนต่อ อีกทั้งตนยังได้เสนอให้สำนักงานส่งเสริมกิจการการศึกษา สังกัดสำนักงานปลัด ศธ.ว่าก่อนที่จะโอนเงินงวดต่อไป จะต้องมีการเปิดบัญชีเฉพาะ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ อีกทั้งในช่วงปี 2557-2559 คณะกรรมการสืบฯยังพบหนังสือสั่งการจากส่วนกลางให้สถานศึกษาแห่งหนึ่งโอนเงินไปให้สถานศึกษาอีกแห่งหนึ่งด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดสังเกต

“จากการสืบสวนทำให้พบว่าที่ผ่านมาที่ ป.ป.ท. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทักท้วงเรื่องการโอนเงินกองทุนฯให้กับเด็กมายัง ศธ.หลายต่อหลายครั้ง แต่การตอบข้อทักท้วงต่างๆพบว่ามีการส่งเอกสารไปชี้แจงเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยเฉพาะหนังสือร้องเรียนจากศูนย์ร้องเรียนประชาชน ทำเนียบรัฐบาลที่ได้ทักท้วงความผิดปกติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ จะได้รับหนังสือชี้แจงอันเป็นเท็จเยอะสุด และผู้ที่ชี้แจงก็คือนางรจนา สินที ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกองทุนฯ และสารภาพว่ามีการทุจริตเงินจริง โดยการทำเป็นหนังสือภายในที่ใช้การประทับตราแทนการลงชื่อ เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้เรื่องขึ้นไปถึงข้าราชการตำแหน่งรองปลัด ศธ.ลงนาม ซึ่งจะทำให้ผู้บังคับบัญชาไม่ได้รับรู้ เพราะผมเชื่อว่าหากปลัด ศธ. ทุกยุคได้เห็นหนังสือร้องเรียนก็คงไม่มีการปล่อยเรื่องนี้ไปแน่นอน” นายอรรถพลกล่าวและว่า สำหรับข้อมูลเส้นทางการเงินที่คณะกรรมการสืบฯให้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ช่วยตรวจสอบนั้น ขณะนี้ ปปง.รายงานกลับมาแล้วส่วนหนึ่ง ในช่วงปี 2554 จนถึงปัจจุบันเท่านั้น ผลสรุปคือ เส้นทางการเงินของบุคคลที่คณะกรรมการสืบฯ ส่งให้ตรวจสอบมีทั้งที่เชื่อมโยงกับกองทุนฯ และไม่มีความเชื่อมโยง อย่างไรก็ตาม การรายงานสรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในครั้งนี้ถือว่ายังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เป็นการรายงานครั้งแรกเท่านั้น คณะกรรมการสืบสวนฯยังต้องทำงานเพื่อตรวจสอบในอีกหลายประเด็น

สำหรับกรณีมีข่าวจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวในราคาแพงเกินจริง ที่ จ.สิงห์บุรีนั้น วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงกรณี ป.ป.ท.ตรวจพบการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเพื่อแจกผู้สูงอายุของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อเดือน ก.พ.2560 ไม่ได้มาตรฐาน และจัดซื้อในราคาแพงกว่าราคากลาง ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตนได้สั่งการให้ผู้อำนวยการศูนย์ฯสิงห์บุรีรายงานข้อเท็จจริงและเหตุผลว่าทำไมต้องจัดซื้อแพงกว่าราคากลาง และทำไมต้องเร่งรีบจัดซื้อ ทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการส่งข้อชี้แจงเข้ามา จากนั้นจะนำไปประกอบการพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ ป.ป.ท. กำลังลงสอบเรื่องนี้ในพื้นที่ซึ่งจะทราบผลภายใน 2-3 วันนี้ เพื่อประมวลผลและพิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวต่อไป เบื้องต้นต้องขอดูรายละเอียดทั้ง 2 ทางก่อน

อธิบดี พส.กล่าวอีกว่า การจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวแจกราษฎรของ พส.ยึดตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่กำหนดขนาดของผ้าห่ม อาทิ ความกว้างไม่น้อยกว่า 145 เซนติเมตร ความยาว ไม่น้อยกว่า 195 เซนติเมตร เช่นเดียวกับราคากลางที่กำหนดไม่เกินผืนละ 240 บาท ส่วนจะจัดซื้อแพงกว่าราคากลางอย่างไร ก็ต้องมีเหตุผลชี้แจงเข้ามา อย่างไรก็ตาม จากนี้ตนจะกำชับหน่วยงานในสังกัดให้จัดซื้อตามความจำเป็นของราษฎร พร้อมต้องปฏิบัติตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของราชการอย่างเข้มงวดเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

ที่สำนักงาน ป.ป.ท.ภาค 5 จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลา 11.00 น. พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. นายกฤษณ์ กระแสเวส ผอ.ป.ป.ท.ภาค 5 ร่วมกันแถลงข่าวการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตรวจสอบคดีทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งในเขตพื้นที่ 5 ในส่วน จ.เชียงใหม่ มีความคืบหน้าการสอบสวนไปแล้วร้อยละ 50 นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังขยายผลตรวจสอบนิคมสร้างตนเอง นิคมชาวเขา รวมถึงศูนย์ประสานงานหมู่บ้านสหกรณ์ จะขยายผลตรวจสอบอีกที่ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดลำพูน เชียงราย แพร่ น่าน

...

เลขาธิการ ป.ป.ท.เผยต่อไปว่า ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดต่างๆ 67 ศูนย์ มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนทั้งหมด 50 ศูนย์ ไต่สวนไปแล้ว 26 ศูนย์ มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 217 คน มีบุคคลนอกศูนย์ฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้บริหารของกรม 3 รายและไม่ถึงระดับผู้บริหารอีก 2 ราย ป.ป.ท.จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบ ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับต่ำกว่าซี 8 ได้แจ้งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้าไปดำเนินการทางวินัยหรือมาตรการทางปกครอง ขณะที่ ป.ป.ท.จะดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่เหลืออีก 24 ศูนย์คาดว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ในจำนวน 50 ศูนย์ที่ตรวจพบการทุจริตเชื่อว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 250 ราย โดยในเขตพื้นที่ 5 มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด 20 ราย