ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบเลี้ยงปลานิลความหนาแน่นสูงระบบน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ ในโครงการความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญระบบบำบัดน้ำเสีย และบริษัท ฟาร์มสตอรี่ จำกัด (ป.เจริญฟาร์ม) ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาชั้นนำ ว่า เป็นโครงการต้นแบบเพื่อให้สามารถเลี้ยงปลา
ในความหนาแน่นสูง น้ำแค่เพียง 1 ลบ.ม. สามารถเลี้ยงปลา 30 กก. ในขณะที่การเลี้ยงแบบทั่วไป น้ำ 1 ลบ.ม. เลี้ยงปลาได้แค่ 1 กก.
“ระบบที่พัฒนาขึ้นช่วยให้เกษตรกรเลี้ยงปลาในที่จำกัด ได้ผลผลิตเพิ่ม 30 เท่าตัว เลี้ยงปลาในถังกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 ม. สูง 2 ม. เติมน้ำสูง 1.2 ม. จำนวน 2 ถัง สามารถเลี้ยงปลาได้ถังละ 300 กก. พร้อมติดตั้งปั๊มเติมอากาศในถังเลี้ยง และมีถังบำบัดน้ำเสียขนาดเดียวกันอีก 1 ถัง มาช่วยทำหน้าที่บำบัดน้ำด้วยตัวกรองชีวภาพไนตริฟิเคชัน หรือการใช้แบคทีเรียเปลี่ยนของเสียที่เป็นแอมโมเนียให้มาอยู่ในรูปไนเตรทที่มีความเป็นพิษต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อปลา เพื่อจะได้นำน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ในถังเลี้ยง”
ดร.สรวิศ เผยอีกว่า ระบบการเลี้ยงปลาหนาแน่นสูงที่พัฒนาขึ้นมานี้ นอกจากจะช่วยลดการใช้น้ำมากถึง 95% ยังทำให้การเลี้ยงทำได้ทุกฤดูกาล และทุกสถานที่ในประเทศไทย เพราะลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม โรคระบาด เลยทำให้ปลามีอัตราการรอดสูงกว่า 90%
“แม้ระยะเวลาการเลี้ยงจะใกล้เคียงกับเลี้ยงทั่วไป แต่ถังปลานี้สามารถรองรับปลาได้กว่า 30 กก. ต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าบ่อดินที่รองรับเพียง 1 กก.ต่อลูกบาศก์เมตร หรือสูงกว่า 30 เท่า ทำให้ใช้พื้นที่น้อยกว่าบ่อดิน การดูแลบำรุงรักษา ทำความสะอาดระบบ ยังสามารถทำได้โดยพนักงานคนเดียว โดยคุณภาพเนื้อปลาที่ได้ไม่แตกต่างกับเลี้ยงในระบบปกติ แต่ไม่มีกลิ่นโคลน ทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานปลาที่สด สะอาด น่ารับประทานมากกว่า”
...
ดร.สรวิศ บอกว่า แม้ตอนนี้ตัวต้นแบบจะยังใช้ต้นทุนสูงเพราะใช้ถังไฟเบอร์กล๊าสอย่างดี แต่ในอนาคตระบบการเลี้ยงที่ได้จดอนุสิทธิบัตรนี้อาจเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่ถูกลงอย่างบ่อปูนหรือวัสดุอื่นเพื่อให้ต้นทุนถูกลง เกษตรกรสนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-1846-2682.