วงเสวนา แบนบุหรี่ไฟฟ้า ประเทศไทยได้หรือเสีย หนุนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เสนอรัฐบาลตั้ง คกก.ศึกษาวิจัย เพื่อตัดสินใจกำหนดนโยบายที่เหมาะสม
วานนี้ (31 มี.ค.61) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดเสวนา หัวข้อ "แบนบุหรี่ไฟฟ้า ประเทศไทยได้หรือเสีย" เพื่อเปิดมุมมองทุกมิติจากนักวิชาการและกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ถึงข้อดีและข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการเผยแพร่ทำให้ประชาชนสับสน
โดย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้า จำหน่ายและให้บริการ แต่ก็ยังมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศกว่า 3 แสนรายที่แอบซื้อขายกันตามโลกออนไลน์ ยากต่อการควบคุมตรวจสอบและเก็บภาษีของภาครัฐ ฝ่ายคัดค้านสนับสนุนให้แบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป โดยให้เหตุผลว่ายังขาดหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะสรุปเกี่ยวกับความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และอาจเป็นช่องทางเพิ่มนักสูบหน้าใหม่หรือเป็นทางไปสู่การริเริ่มสูบบุหรี่มวนของเยาวชนได้ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนยกผลวิจัยจากต่างประเทศที่ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน และในต่างประเทศ อนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างถูกกฎหมาย และมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม
"หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการรวบรวมและทบทวนข้อมูลผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาผลดีและผลเสียของแนวนโยบายของต่างประเทศที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นผลดีต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย" ศ.ดร.ศิวัชกล่าว
ด้านนายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า "กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)" และเฟสบุ๊ค "บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" กล่าวว่า เราเรียกร้องให้มีการทบทวนการแบนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสได้ใช้นวัตกรรมเพื่อลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ โดยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมถึงคณะกรรมาธิการพาณิชย์ฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วย ซึ่งรายงานผลการพิจารณาของ กมธ. พาณิชย์ฯ ไม่ได้บอกให้แบนบุหรี่ไฟฟ้า กลับแนะนำให้รัฐบาลพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนในด้านประโยชน์และโทษ พร้อมเสนอ 6 ทางเลือกที่เหมาะสมในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เช่น ขายในร้านขายยา หรือควบคุมตามเงื่อนไขบุหรี่ทั่วไป
...
ด้านนายอาสา ศาลิคุปต์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าฯ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งหน่วยงานที่เป็นกลางขึ้นมาเพื่อรวบรวมและทำการศึกษาข้อมูลผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาผลดีและผลเสียของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเราพร้อมพูดคุยและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพราะการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไปเท่ากับการฆ่าผู้สูบบุหรี่ทางอ้อม
ขณะที่ นายแพทย์พิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจชื่อดัง Drama-addict กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งนั้น เพราะมีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการเลิก แต่ความจริงในสังคมที่เราต้องยอมรับคือจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ตัดสินไม่เลิก ดังนั้น ถ้ามีผลิตภัณฑ์ยาสูบอะไรที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ รัฐบาลก็ควรสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่ได้ใช้ ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางป้องกันเด็กและเยาวชนจากผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใหม่เหล่านั้นด้วย บ่อยครั้งที่มีคำถามจากแฟนเพจมาหาตนถามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยจริงหรือไม่ เพราะอ่านเจอจากร้านออนไลน์ เว็บไซต์ที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าบรรยายสรรพคุณมากมาย ซึ่งการที่เราไม่หามาตรการมาควบคุมให้ดี เราจะป้องกันการเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เลย
นายนิลสุวรรณ ลีลารัศมี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ สนช. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมองในมุมปัญหาสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบารากู่ ซึ่งจัดเป็นสินค้าต้องห้าม ขณะที่คนไทยมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากว่า 4 แสนคนในปัจจุบัน ขณะที่กฎหมายยังไม่มีการเปิดให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเสรี ดังนั้น ตนเสนอว่าให้โรงงานยาสูบเป็นผู้ผลิตกาเฟอีน หรือสารสกัดเพื่อใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า แต่อาจจะสูญเสียรายได้จากการผลิตบุหรี่มวน แต่ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ และในอนาคตมองว่าสามารถส่งออกได้หรือไม่ โดยโรงงานยาสูบเป็นผู้ผลิตสารสกัดเหล่านี้เพื่อส่งออกไปยังประเทศปลายทาง อย่างไรก็ตามไม่ว่ากระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุขจะต้องร่วมพิจารณาวิเคราะห์ถึงเหตุและผลว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่