พบ 8 จุดผิดบ่อย 7 จุดอันตราย

ศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพัฒนากรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศสู่การเป็นนครอัจฉริยะ (Smart City) ที่สมบูรณ์แบบด้วยระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) โดยใช้เทคโนโลยี Global Positioning System : GPS

“รายงานวันจันทร์” วันนี้ จะไปคุยกับ ผอ.ศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สจล. เอกชัย สุมาลี ถึงที่มาที่ไปของศูนย์และงานนวัตกรรมที่กำลังพัฒนาอยู่

-----------------------

ถาม-ศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ มีที่มาและทำอะไรบ้าง

เอกชัย–ศูนย์วิจัยฯจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) โดยใช้เทคโนโลยี Global Positioning System : GPS เก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมการขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุก เพื่อติดตาม ตรวจสอบ รถที่กระทำความผิดทั้งการขับรถเร็ว ขับนอกเส้นทางและเกินเวลา เป็นต้น ซึ่งเริ่มติดระบบ GPS กับรถประเภทดังกล่าวตามกฎหมายตั้งแต่ปลายปี 2559 ขณะนี้มีรถติดไปแล้วกว่า 270,000 คัน และภายในปี 2562 จะติดครบ 1 ล้านคัน นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น DLT-GPS เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบและร้องเรียนการให้บริการสะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ พบว่าปี 2560 มีรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกขับขี่โดยใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด สูงประมาณ 17 ล้านครั้ง จากจำนวนรถในระบบ 250,000 คัน ในจำนวนนี้พบว่ารถส่วนใหญ่ที่กระทำผิดเป็นรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นรถเหมา นอกจากนี้พบว่า เส้นทางที่กระทำผิดมากที่สุดจำนวน 8 เส้นทาง ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ–ชลบุรี ช่วง กม.ที่ 0–6 2.ถนนบางนา–ตราด กม.ที่ 1–8 3.ถนนสายเอเชีย กม.ที่ 7–12 4.ถนนพหลโยธิน กม.ที่ 78–82 5.ถนนวิภาวดีรังสิต กม.ที่ 9–16 6.ถนนเพชรเกษม กม.ที่ 160–165 7.ถนนมิตรภาพ กม.ที่ 54–58 และ 8.ถนนพระราม 2 กม.ที่ 45–51

...

รวมถึงทราบจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและมีผู้เสียชีวิต ต้องแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบเป็นพิเศษ 7 จุด อาทิ ถนนพหลโยธิน กม. 708–726 ถนนมิตรภาพ กม. 20–32 ถนนเพชรเกษมตัดถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 9 บริเวณแยกเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช และทางหลวงหมายเลข 304 ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทับลาน เป็นต้น

ถาม-จะมีการพัฒนาระบบ GPS ใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อย่างไร

เอกชัย–ข้อมูลที่ได้จากระบบ GPS สามารถนำไปใช้วางแผนด้านโลจิสติกส์ ทั้งเรื่องรูปแบบและเส้นทางการขนส่ง เช่น รถบรรทุกข้าว จะใช้เส้นทางใด จากไหนไปไหน รถบรรทุกน้ำตาล จะหนาแน่นในช่วงไหน สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์วางแผนเพื่อจัดระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนแผนพัฒนาระบบต่อไปจะพัฒนาระบบให้สามารถแจ้งเตือนการกระทำผิดได้อัตโนมัติ โดยควบคุมจากส่วนกลางสั่งให้รถหยุดหรือชะลอความเร็ว ระบบเตือนภัยเมื่อเข้าสู่พื้นที่เสี่ยงอันตราย

ถาม-ประชาชนจะได้อะไรจากแอพพลิเคชั่น DLT-GPS

เอกชัย-แอพฯตัวนี้ทางศูนย์วิจัยฯได้พัฒนาระบบให้เชื่อมต่อกับระบบ GPS สามารถติดต่อกับกรมการขนส่งทางบกโดยตรง นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมระบบการติดตามรถที่ติด GPS โดยกรอกหมายเลขทะเบียน เลือกจังหวัด ก็จะทราบทันทีว่ารถคันดังกล่าวอยู่ที่ไหน ใช้ความเร็วเท่าไหร่ นอกจากนี้ สามารถร้องเรียนรถที่กระทำผิด หรือแจ้งเหตุการเกิดอุบัติเหตุเพื่อขอความช่วยเหลือได้อีกด้วย รวมถึงการระบุตำแหน่งสถานีขนส่งแต่ละจังหวัดให้ทราบเพื่อความสะดวกในการเดินทาง ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพฯได้ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทั้งระบบ iOS และ Android โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.