กระแส "บุพเพสันนิวาส" ยังช่วงชิงแฟนละครจากทุกช่องด้วยเนื้อหาสาระพาเพลินสะกดทุกอารมณ์ จนเรตติ้งผู้เข้าชมสูงปรี๊ดฉุดไม่อยู่แล้วจริงๆ "แม่หญิงพลอย" ลงพื้นที่สวมบทบาทเป็น "นางเอกบุพเพสันนิวาส" ตระเวนสำรวจราคาเช่าชุดในเมืองกรุงเก่า เอาชัดๆ แบบไหน ราคาเท่าไร ใครแวะไปอุดหนุนสวมใส่จะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ก็แหม...ปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ว่าสาวๆ ยุคนี้สมัยนี้ น่าจะอยากลองเป็นนางเอกละครสักครั้ง เอาเป็นว่า ไทยรัฐทีวี ส่ง "แม่หญิงพลอย" หรือ "พลอยศจี ฤทธิศิลป์" ผู้สื่อข่าวมือรางวัลของเรา เป็นตัวแทนช่อง มุ่งสู่เมืองอยุธยา ตามหา "พี่หมื่น" พร้อมๆ กับสำรวจราคาชุดไทยแบบต่างๆ มาให้ทราบโดยทั่วกันทั้งประเทศค่าาาา...
ชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ระยะเวลา 17 ปี (พ.ศ. 2394-2411) ราคาเช่า 500 บาท เนื่องจากสมัยโบราณคนไทยไม่นิยมสวมเสื้อแม้แต่เวลาเข้าเฝ้าฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้าฯ และทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาภาษาอังกฤษ จึงทำให้มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา การแต่งกายของสตรีจึงมีการเปลี่ยนแปลงไป
การแต่งกายของผู้หญิง: ผู้หญิงจะนุ่งผ้าลายโจงกระเบน หรือนุ่งผ้าจีบ ใส่เสื้อแขนยาว ผ่าอก ปกคอตั้งเตี้ยๆ (เสื้อกระบอก) แล้วห่มผ้าแพรสไบจีบเฉียงทับบนเสื้อ ตัดผมไว้ปีกเช่นเดิม แต่ไม่ยาวประบ่า
...
สมัยรัชกาลที่ 5 ระยะเวลา 42 ปี (พ.ศ. 2411-2453) ราคาเช่า 500 บาท ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของคนไทย เนื่องจากรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป และมีการนำแบบอย่างการแต่งกายของชาวยุโรปกลับมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย อีกทั้งในสมัยนี้ยังมีกำเนิดชุดชั้นในรุ่นแรกที่ดัดแปลงจากเสื้อพริ้นเซส ซึ่งต่อมาได้พัฒนาให้เป็นเสื้อชุดชั้นในที่เรียกว่า เสื้อคอกระเช้า ที่ยังคงเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้
การแต่งกายของหญิง: ผู้หญิงจะนุ่งผ้าลายโจงกระเบน เสื้อกระบอก แขนยาว ผ่าอก ห่มผ้าแพร จีบตามขวาง สไบเฉียงทับบนเสื้ออีกชั้นหนึ่ง ถ้าอยู่บ้านจะห่มแต่สไบ ไม่สวมเสื้อ เมื่อมีงานพิธีจะนุ่งห่ม ผ้าตาด เลิกไว้ผมเปีย และหันมาไว้ผมยาวประบ่า
สมัยรัชกาลที่ 6 ระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ. 2453-2468) ราคา 500 บาท
การแต่งกายของหญิง: ผู้หญิงเริ่มมีการนุ่งผ้าซิ่นตามพระราชนิยม สวมเสื้อแพรโปร่งบาง หรือผ้าพิมพ์ดอก คอกว้างขึ้น หรือแขนเสื้อสั้นประมาณต้นแขน ไม่มีการสะพายแพร ส่วนทรงผมจะไว้ยาวเสมอต้นคอ ตัดเป็นลอน หรือเรียกว่า ผมบ๊อบ มีการดัดผมด้านหลังให้โค้งเข้าหาต้นคอเล็กน้อย นิยมคาดผมด้วยผ้าหรือไข่มุก
การแต่งกายของชาย: ผู้ชายยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน แต่เริ่มมีการนุ่งกางเกงแบบชาวตะวันตกในภายหลัง แต่ประชาชนธรรมดาจะนุ่งกางเกงผ้าแพรของจีน สวมเสื้อคอกลมสีขาว (ผ้าบาง)
การแต่งกายสมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310) ราคา 500 บาท
ราวสมัย พ.ศ. 1893 สมัยพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านปลดกางเกงหรือสนับเพลาออกบ้างแล้ว คงใช้เฉพาะขุนนางข้าราชสำนัก แบบขัดเขมรจึงถูกปล่อยให้ยาวลงมาถึงใต้เข่าเป็น “นุ่งโจงกระเบน” เสื้อคอกลมแขนกรอมศอก สตรีนุ่งผ้าและผ้ายกห่มสไบเฉียง สวมเสื้อ บ้างโดยมากเป็นแขนกระบอก
การแต่งกายของสมัยอยุธยามีการเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งมี 3 แบบ คือ การแต่งกายตามกฎมณเฑียรบาล เป็นแบบของเจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงตลอดจนพวกมีฐานะจะแต่งตามไปด้วย ผู้หญิงยังมีการเกล้ามวยอยู่ การแต่งกายแบบชาวบ้าน (ระยะกลางของสมัยอยุธยา) มีการนุ่งโจงกระเบน ทางแถบเมืองเหนือ ผู้ชายอาจไว้ผมยาว ส่วนทางใต้ลงมาตัดผมสั้นลง ครั้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการไว้ผมมหาดไทย ผู้หญิงยังคงไว้ผมยาวนิยมห่มสไบ
...
ยุคสงคราม (สมัยอยุธยาตอนปลาย) ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องช่วยกันต่อสู้กับศัตรู ผู้หญิงตัดผมสั้นลง เพื่อปลอมเป็นผู้ชาย และสะดวกในการหลบหนี เสื้อผ้าอาภรณ์จึงตัดทอนไม่ให้รุ่มร่าม เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่และเคลื่อนไหว มีการห่มผ้าตะเบงมานคือห่มไขว้กันบริเวณหน้าอกแล้วรวบไปผูกไว้หลังคอ ส่วนผู้ชายไม่มีการเปลี่ยนแปลง