โต้แย้งคำตัดสินศาล เพื่อเป็นบรรทัดฐาน
เป็นไปตามคาด กสทช.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำตัดสินศาลปกครองกลางต่อสู้คดีทีวีดิจิทัล หลัง “ติ๋ม ทีวีพูล” ชนะคดีขอเลิกใบอนุญาต “นที” ย้ำทำถูกต้องตามแผนงานทุกประเด็น มั่นใจ ไม่มีช่องใดขอคืนใบอนุญาต เหตุจ่ายค่าประมูลมาแล้ว 70% และรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเร็วๆนี้
หลังจากที่นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล เจ้าของไทยทีวีช่อง 15 และโลก้าช่อง 17 ชนะคดี กสทช.ในการบอกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลและให้ กสทช.คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารนั้น เมื่อวันที่ 14 มี.ค. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ได้รับทราบคำตัดสินของศาลปกครองกลางกรณีบริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ช่อง 15 และช่อง 17 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีมติให้ กสทช.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน เพื่อให้คดีถึงที่สุดและจะเป็นบรรทัดฐานต่อไป
พ.อ.นทีกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ กสทช.จะต้องยื่นโต้แย้งคำตัดสินของศาลปกครองดังนี้ คือ กสทช.ไม่ได้อนุญาตให้เอกชนเข้าร่วมการงานกับรัฐ หรือเรียกว่า ระบบสัมปทาน แต่เป็นการออกใบอนุญาตให้เอกชนไปประกอบกิจการด้วยตัวเอง ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและเป็นไปตามหลักสากล อีกทั้ง พ.ร.บ.กสทช. 2560 มาตรา 42 ได้ระบุว่าเงิน ที่ได้จากการประมูลนั้น ผู้ชนะประมูลต้องชำระให้ครบจำนวน แต่การแบ่งจ่ายเป็นงวดนั้น เพราะ กสทช.ต้องการแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ เงินประมูลนั้นแตกต่างจากค่าธรรมเนียมรายปีที่ต้องจ่ายทุกปี
“กรณีการคืนใบอนุญาตและบอกเลิกสัญญา จะนำมาเป็นบรรทัดฐานของการประมูล อาจส่งผลกระทบต่อการประมูลคลื่นมือถือด้วย โดยเฉพาะคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ประมูลในราคาที่สูง เมื่อชำระไปแล้ว 2-3 งวด และงวดสุดท้ายต้องชำระทีเดียวรายละ 60,000 ล้านบาท แต่ผู้รับใบอนุญาตแจ้งว่าไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จึงขอคืนใบอนุญาต หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็ถือว่าเกิดความเสียหาย แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อไป” พ.อ.นทีกล่าวและว่า ส่วนประเด็น กสทช.ไม่ทำตามสัญญาเรื่องโครงข่ายทีวีดิจิทัลไม่ครอบคลุมและการแจกคูปองทีวีดิจิทัลมูลค่า 690 บาทล่าช้า กสทช.ยืนยันว่า การกำกับดูแลให้ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายทีวีดิจิทัล ติดตั้งและขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่นั้น เป็นไปตามแผนการดำเนินการทุกอย่าง โดยปีที่ 1 ขยายโครงข่ายทีวีดิจทัลครอบคลุม 50% ของพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ ปีที่ 2 ครอบคลุม 80% และปีที่ 3 ครอบคลุม 95%
รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยด้วยว่า ส่วนการแจกคูปองทีวีดิจิทัล ต้องแจกตามพื้นที่ที่โครงข่ายทีวีดิจิทัลเข้าถึง ดังนั้นจึงไม่ได้ผิดสัญญาแต่อย่างใด หาก กสทช.ผิดสัญญาไม่ดำเนินการตามแผนงาน ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายคงล้มเหลวหมด ทุกวันนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอีกหลายรายประสบความสำเร็จ มีกำไร กรณีกรมประชาสัมพันธ์ติดตั้งโครงข่ายทีวีดิจิทัลล่าช้า กสทช.ได้สั่งปรับตามกฎหมายและได้มีการยื่นฟ้องร้องกันที่ศาลปกครองอยู่แล้ว
...
พ.อ.นทีกล่าวต่อว่า ทีวีดิจิทัลเป็นบริการสาธารณะ ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน การมีช่องทีวีดิจิทัล เพื่อให้เป็นทางเลือกประชาชน ประชาชนได้ประโยชน์ แต่เมื่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลประสบปัญหา รัฐก็ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน การช่วยเหลือนั้นก็ต้องเท่าเทียมกันทุกราย ถ้าไม่ช่วยเหลือ ประชาชนก็เสียประโยชน์ ไม่มีทางเลือกในการรับชมช่องรายการที่หลากหลายได้ ขณะนี้ภาครัฐก็กำลังหา แนวทางช่วยเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีความเชื่อมั่นว่า จะไม่มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใดยื่นขอคืนใบอนุญาต เนื่องจากทุกรายได้ชำระค่าประมูลทีวีดิจิทัลไปแล้วกว่า 70% ของราคาประมูลราว 50,862 ล้านบาท โดยชำระไปแล้ว 35,603 ล้านบาท ฉะนั้นเหลือวงเงินที่ต้องชำระเพียง 14,268.80 ล้านบาทเท่านั้น