เขตประเวศให้เวลาผู้ค้า 3 ตลาดรอบบ้าน “ป้าทุบรถ” ระบายสินค้าก่อนสั่งปิด 28 ก.พ.นี้ จนกว่าจะปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนอีก 2 ตลาดหากแก้ไขเพิ่มที่จอดรถ ขายสินค้าเชิงพาณิชย์ไม่ขายของสดให้ขายต่อได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าพื้นที่จัดสรรสร้างอย่างอื่นนอกจากที่อยู่อาศัยได้หรือไม่ “อัศวิน” ออกคำสั่งตั้ง คกก.ตรวจสอบตลาดรอบบ้านป้ารายงานผลภายใน 28 ก.พ.นี้เช่นกัน

กรณี น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ อายุ 61 ปี และ น.ส.ราณี แสงหยกตระการ อายุ 57 ปี 2 พี่น้องก่อเหตุทุบรถกระบะของ น.ส.รชนิกร เลิศวาสนา อายุ 37 ปี ที่เอามาจอดขึ้นเบรกมือขวางทางเข้าออกบ้านพักเลขที่ 37/208 หมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 แยก 2 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. สาเหตุจากการสร้างตลาด 5 แห่ง ติดกับบ้านพักสร้างความเดือดร้อนมานานนับ 10 ปี โดยเมื่อปี 2553 ได้ฟ้องเจ้าของตลาด ผู้ว่าฯกทม.และผู้อำนวยการเขตประเวศกับศาลปกครองคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ต่อมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ลงไปแก้ปัญหาสั่งปิดตลาดที่ไม่มีใบอนุญาต 3 แห่ง ส่วนอีก 2 แห่ง เป็นคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครอง พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาข้อยุติให้เสร็จภายใน 7 วัน และกำชับทุกเขตตรวจสอบตลาดอื่นทั้ง 364 แห่งทั่ว กทม.ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่

ที่สำนักงานเขตประเวศ เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 ก.พ. นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตประเวศ เรียกประชุมร่วมกับเจ้าของตลาดทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วยตลาดสวนหลวง 1 ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดร่มเหลืองที่ไม่มีใบอนุญาต ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดรุ่งนรา และซุปเปอร์มาร์เก็ตอินฟินิตี้มอลล์ อีก 1 แห่ง ทั้งหมดตั้งอยู่บริเวณรอบบ้านเลขที่ 37/208 ซอยศรีนครินทร์ 55 ของ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ อายุ 65 ปี เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและแนวทางการดำเนินคดีกับเจ้าของตลาดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ มีเจ้าของตลาดมาร่วมประชุมเพียง
5 แห่ง ยกเว้น ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ตที่ไม่ได้เข้าร่วมใช้เวลา 1 ชั่วโมง

...

นายธนะสิทธิ์แถลงว่า จากการตรวจสอบพบว่า 1.ตลาดสวนหลวง 1 ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แต่ไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งตลาดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 2.ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เชิงพาณิชย์ แต่ไม่ได้จำหน่ายสินค้าถูกต้องตามที่ขอใบอนุญาต 3.ตลาดยิ่งนรา มีใบอนุญาตขอก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เชิงพาณิชย์ และจำหน่ายสินค้าถูกต้องตามที่ขอใบอนุญาต แต่โครงสร้างของอาคารไม่มีพื้นที่จอดรถ 4.ตลาดรุ่งวาณิชย์ และ 5.ตลาดร่มเหลือง ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งตลาดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ

อย่างไรก็ตาม มี 3 ตลาดที่ต้องยุติการขาย ประกอบด้วย ตลาดสวนหลวง 1 ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลือง สำนักงานเขตจะออกคำสั่งให้ปิดตลาดหรือห้ามขายของจนกว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เริ่มปิดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.เป็นต้นไป ระหว่างนี้กลุ่มผู้ค้ายังสามารถขายของได้ตั้งแต่วันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ระบายสินค้า ภายในตลาด ส่วนอีก 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เชิงพาณิชย์ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ได้ขออนุญาต คือต้องจำหน่ายสินค้าเชิงพาณิชย์เท่านั้น ยกเว้นของสดเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สาธารณสุขฯและการขออนุญาตจัดตั้งตลาด และตลาดยิ่งนราต้องหาพื้นที่จอดรถให้ได้ กฎหมายกำหนดว่าต้องมีพื้นที่จอดรถอย่างน้อย 14 คัน

นายธนะสิทธิ์กล่าวอีกว่า ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดยิ่งนราต้องแก้ไขตามที่ระบุภายใน 7 วัน หรือก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ หากปฏิบัติตามข้อกฎหมายแล้วสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ต้องไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญต่อบ้านพักอาศัยโดยรอบบริเวณ ขณะเดียวกัน หากภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เจ้าของตลาดไม่ได้แก้ไข จะต้องหยุดกิจการและสั่งปิดกิจการเช่นเดียวกัน ดังนั้น อะไรที่ผิดกฎหมายจะต้องไม่มี ทั้งหมดเป็นแนวทางที่ทุกเขตต้องปฏิบัติเหมือนกัน

สำหรับผลกระทบต่อผู้ค้าภายใน 3 ตลาด ภายหลังการปิดตลาด คือ ตลาดสวนหลวง 1 ตลาด รุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลือง ปัจจุบันมีผู้ค้าตลาดละประมาณ 100 ราย รวมประมาณ 300 ราย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ให้สำนักงานเขตจัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มผู้ค้าแจ้งความประสงค์ว่าจะหาพื้นที่ขายใหม่เอง เนื่องจากกลุ่มผู้ค้าทั้งหมดมีพื้นที่ขายในวันเสาร์-อาทิตย์เป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้าน น.ส.บุญศรีต้องแยกอีกกรณีหนึ่งไม่ได้เข้าข่ายให้ปิดกิจการภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพราะอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเจ้าของซุปเปอร์มาร์-เก็ตดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่

“คุณบุญศรีจะได้สบายใจอยู่บ้านอย่างมีความสุขและเชื่อว่าคุณบุญศรีคงสบายใจในการแก้ไขปัญหาของ กทม. ที่ผ่านมาผมบอกแล้วว่าผมไม่รู้ ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวินสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงตรวจสอบข้อเท็จจริงในระยะที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นผมอยู่ตรงนี้จะทำทุกอย่างให้ถูกต้องและตรวจสอบภายในเขตทั้งหมด ส่วนเขตอื่นอีก 49 เขต ผู้ว่าฯ กทม.จะออกคำสั่งให้ ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกัน” นายธนะสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบมาก่อนหรือไม่ว่าตลาดไม่ได้ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นายธนะสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ขอตอบเพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และผู้ว่าฯ กทม.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง ผอ.เขตประเวศจะไม่มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเด็ดขาด เมื่อถามอีกว่า หากศาลตัดสินว่าพื้นที่ทั้งหมด นี้เป็นที่ดินจัดสรรเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่มีการพาณิชย์ไม่มีอุตสาหกรรมและมีระบบสาธารณูปโภคเพื่อที่อยู่อาศัย กทม.จะดำเนินการอย่างไร นายธนะสิทธิ์กล่าวว่า หากคำสั่งศาลระบุว่าให้เป็นพื้นที่เพื่ออยู่อาศัย อาคารตลาดทั้งหมดจะต้องรื้อถอน แม้ตลาดที่ขอใบอนุญาตอาคารใช้เชิงพาณิชย์คือ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ตและตลาดยิ่งนราต้องรื้อถอนอาคารเช่นกัน กทม.จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลและออกคำสั่งให้เจ้าของตลาดเป็นผู้รื้อถอนอาคาร อย่างไรก็ตาม กทม.คงไม่ก้าวล่วงการปฏิบัติหน้าที่ของศาล เบื้องต้นรองโฆษกศาลปกครองสูงสุดได้ชี้แจงว่าคดีมีความคืบหน้าไปมาก คู่กรณีอยู่ระหว่างยื่นเอกสารเพิ่มเติม

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวินลงนามในคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 755/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง อาศัยอำนาจตาม ม.49 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหาร ราชการของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบด้วย 1.นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานกรรมการ 2.นายบรรลือ สุกใส กรรมการ 3.นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ กรรมการ 4.นายอภิรัตน์ ศิวพรพิทักษ์ กรรมการ 5.นายเพ็ชร ภุมมา กรรมการ และ 6.นางสุรีทิพย์ ศรีนิล กรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จ ภายวันที่ 28 ก.พ. 2561 แล้วเสนอผลการตรวจสอบมาเพื่อพิจารณาดำเนินการ

เช้าวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณตลาดสดภายในซอยศรีนครินทร์ 55 บรรยากาศเงียบเหงามีรถยนต์จอดริมถนนภายในระยะเวลาจอดได้ จากการตรวจสอบพบว่าตลาดสวนหลวง 1 ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลืองที่ไม่มีใบอนุญาตถูกปิด ไม่มีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของ ส่วนตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดยิ่งนราเปิดขายปกติ น.ส.ปราชญา- ภันต์ ล้อประเสริฐ อายุ 44 ปี แม่ค้าน้ำพริกในตลาดเปิ้ลมาร์เก็ตเผยว่า ปกติตลาดทั้งหมดจะเปิดในช่วงเช้าทุกวัน ยกเว้นตลาดร่มเหลืองที่เปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เกิดเรื่องมีคนมาเดินซื้อของน้อยมาก อาจเข้าใจว่าตลาดปิดทั้งหมด หากตลาดต้องปิดผู้ค้าหลายร้อยชีวิตต้องเดือดร้อนแน่ ผู้สื่อข่าวถามว่าจริงหรือไม่ที่มีกลุ่มแม่ค้าในตลาดสงสัยว่าป้าทุบรถเป็นการจัดฉากขึ้นของเจ้าของบ้าน น.ส.ปราชญาภันต์กล่าวว่า ตอนแรกไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้แต่มีการจับกลุ่มวิจารณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในลักษณะนี้จริง วิจารณ์เจ้าของรถกระบะว่าตอบคำถามในลักษณะไม่รับผิดชอบ ทำให้สังคมตำหนิอย่างรุนแรง แต่ไม่อยากวิจารณ์อะไร มากเนื่องจากกลัวจะถูกฟ้องหมิ่นประมาท

...

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า มอบหมายให้นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัด กทม. ออกคำสั่งให้ 50 สำนักงานเขต สำรวจตลาดในพื้นที่ว่าได้รับอนุญาตจัดตั้งถูกต้องหรือไม่ พร้อมรายงานผลมายังผู้บริหาร กทม. ภายในเดือนมีนาคม เบื้องต้น ทราบว่าพื้นที่กรุงเทพฯมีตลาดกว่า 1,000 แห่งและมีเพียง 364 แห่งเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งตลาดถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากพบตลาดที่ทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 1.ทำให้ถูกต้อง และ 2.ยกเลิกตลาด อะไรที่ผิดก็ต้องทำให้ถูก นอกจากนี้ กทม.จะสำรวจตลาดนัดตอนกลางคืนด้วยว่าขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ รวมถึงตลาดนัดบางแห่งที่เปิดร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะตรวจสอบด้วยเช่นกันว่ามีใบอนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่

มีรายงานว่าวันเดียวกัน นายภัทรุตม์ลงนามในบันทึกหนังสือ กท.ที่0907/178 ถึงผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ให้สำรวจและตรวจสอบอาคารประเภทตลาด ด้วยปรากฏว่ามีการประกอบกิจการประเภทตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้การประกอบกิจการประเภทตลาดเป็นไปตามกฎหมาย มีความปลอดภัย ถูกต้องตามหลักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานเขตทุกเขตดำเนินการตามนี้ 1.สำรวจตรวจสอบ การดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขของการประกอบกิจการประเภทตลาดในพื้นที่รับผิดชอบ 2.กรณีที่การประกอบกิจการประเภทตลาดเป็นอาคารให้ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และ 3.ให้รายงานผลการตรวจสอบและส่งให้สำนักการโยธา ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2561 เพื่อรวบรวมสรุปผลนำเสนอผู้ว่าฯกทม.ต่อไป