ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้ “มิตสุโตกิ ชิเกตะ” ทายาทบริษัทธุรกิจไอที ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น เป็นพ่อเด็กอุ้มบุญ 13 คน หลังพิเคราะห์ทุกแง่มุมโดยคำนึงถึงความผาสุก สวัสดิภาพ และโอกาสของเด็กทั้ง 13 คน รวมถึงหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทนทุกคนต่างทำบันทึกยินยอม หลังคำพิพากษาทนายเผยจะประสาน พม. รวมทั้งเตรียมแจ้งพ่อเด็กนำลูกๆที่อายุระหว่าง 3 ปี 8 เดือน ถึง 4 ปี 6 เดือน กลับญี่ปุ่น ขณะที่อธิบดีกรมเด็กและเยาวชน (ดย.) คาดส่งมอบเด็กได้ก่อนหรือทันวันที่ 14 มี.ค.
ศาลสั่ง “ชิเกตะ” เป็นพ่อ 13 เด็กอุ้มบุญ เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 ก.พ. ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลอ่านคำสั่งในคดีที่นายมิตสุโตกิ ชิเกตะ อายุ 28 ปี ชาวญี่ปุ่น ผู้ร้อง ยื่นคำร้องรวม 9 สำนวน ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้เยาว์ทั้ง 13 คน ซึ่งเกิดจากการตั้งครรภ์แทน เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้อง ประกอบรายงานสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก และเยาวชนกรุงเทพมหานคร ได้ความว่าผู้ร้องไม่มีภริยา แต่เป็นผู้ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนตั้งแต่ปี 56 โดยใช้เชื้ออสุจิของผู้ร้องปฏิสนธิกับไข่ของผู้บริจาค นำไปใส่ในโพรงมดลูกของหญิงไทยผู้รับตั้งครรภ์แทน 9 คน จนคลอดผู้เยาว์รวม 13 คน เมื่อปี 57 เป็นเวลาก่อนวันที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ (วันที่ 30 ก.ค.58) ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้เยาว์ทั้ง 13 คนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องได้ ประกอบกับรายงานผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ผู้ร้องเป็นบิดาโดยสายโลหิตของผู้เยาว์ทั้ง 13 คน หลังจากผู้เยาว์ทั้ง 13 คนเกิด ผู้ร้องรับอุปการะเลี้ยงดูด้วยดีตลอดมา กระทั่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำไปเลี้ยงดูที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ดและสถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ ผู้ร้องมอบหมายให้บุคคลอื่นไปเยี่ยมเยียนผู้เยาว์เหล่านั้นเป็นประจำ อีกทั้งวางแผนเตรียมความพร้อมพาไปอุปการะเลี้ยงดู ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเตรียมสถานที่เลี้ยงดูที่มีความ ปลอดภัยและสะดวก มีพยาบาลวิชาชีพและพี่เลี้ยงเด็กเพียงพอ เมื่อถึงเกณฑ์ที่ผู้เยาว์จะเข้ารับการศึกษา ผู้ร้องวางแผนจะส่งเข้าศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติใกล้ที่พักอาศัย โดยผู้ร้องและครอบครัวซื้อที่ดิน และกำลังก่อสร้างที่พักอาศัยใกล้สวนสาธารณะขนาดใหญ่ กลางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังเปิดบัญชีกองทุนให้ที่ประเทศสิงคโปร์ สะสมให้ผู้เยาว์ทั้ง 13 คนในระยะยาวอีกด้วย ทั้งได้ความว่า ผู้ร้องได้นำบุตร ผู้เยาว์อื่นซึ่งเกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนหน้านี้ ไปเลี้ยงดูที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศกัมพูชา พบว่าได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี โดยเฉพาะบุตรผู้เยาว์ที่นำไปเลี้ยงดูที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับสัญชาติญี่ปุ่นครบถ้วนทุกคนแล้ว
...
ทั้งนี้ ผู้ร้องเป็นบุตรผู้ก่อตั้ง และประธานบริหาร บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นในหลายบริษัท ได้รับเงินปันผลจากบริษัทเดียวปีละกว่าร้อยล้านบาท แสดงว่ามีอาชีพการงานมั่นคง มีรายได้มากเพียงพอที่จะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ทุกคน อธิบดีกรมกิจการเด็กในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานที่เลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้ง 13 คน มีหนังสือไม่คัดค้านการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาล ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้เยาว์ทั้ง 13 คนถือกำเนิด จึงต้องรับผิดชอบในการอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าว
คำสั่งศาลระบุอีกว่า เมื่อคำนึงถึงความผาสุก สวัสดิภาพ และโอกาสของผู้เยาว์ทั้ง 13 คนอันพึงจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาที่แท้จริง ที่ย่อมต้องมีความรักใคร่ผูกพันต่อบุตรโดยสายเลือดของตนเอง และเป็นผู้มีความใกล้ชิดกับผู้เยาว์มากที่สุด ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีความประพฤติบกพร่องเสียหาย เห็นสมควรมีคำสั่งให้ผู้เยาว์ทั้ง 13 คนที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องนับแต่วันที่ผู้เยาว์นั้นเกิด และเมื่อได้ความว่าหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทน มิได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้เยาว์ ทุกคนต่างทำบันทึกยอมสละอำนาจปกครองแล้ว เห็นควรให้ผู้ร้องใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้ง 13 คนแต่เพียงฝ่ายเดียว ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่า ผู้เยาว์ทั้ง 13 คนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง นับแต่วันที่ผู้เยาว์ทั้ง 13 คนเกิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญ- พันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มาตรา 56 กับให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้ง 13 คนแต่เพียงฝ่ายเดียว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ภายหลังนายก้อง สุริยมลฑล ทนายความนาย มิตสุโตกิกล่าวว่า ขอกราบขอบพระคุณผู้พิพากษาที่ให้ความเป็นธรรมกับนายมิตสุโตกิ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ จากคำพิพากษา พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบ ประกอบกับที่ท่านแสวงหาตรวจสอบด้วยตนเอง ข้อเท็จจริงที่ว่านายมิตสุโตกิไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือคดีอาญาใด มีความเหมาะสม ต้องการอุปการะเลี้ยงดูบุตรทุกคนจริงๆ จากนี้จะประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอรับตัวเด็กทั้ง 13 คน กลับไปอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวเด็กด้วย เนื่องจากขณะนี้เด็กมีอายุ 4 ปี อาจจะมีความสัมพันธ์กับพี่เลี้ยง มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องนำพี่เลี้ยงเดินทางไปด้วย เชื่อว่าจะต้องดูแลเด็กอีกระยะหนึ่ง กระทั่งเด็กมีความพร้อมก่อนนำตัวกลับ ยืนยันว่านายมิตสุโตกิต้องการมีลูก และที่ต้องการมีลูกมากเป็นเหตุผลส่วนตัว เนื่องจากเขาเป็นครอบครัวใหญ่ ตลอดเวลา 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา นายมิตสุโตกิมีความเป็นห่วงลูก ในขณะที่กระทรวงการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ได้คัดค้าน ทำให้คำพิพากษานี้ถึงที่สุด
ด้านนายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เมื่อผู้ร้องส่ง ทนายมาขอรับบุตร ดย. จะพูดคุยถึงกระบวนการที่ต้องมีก่อนรับ คือ ขณะนี้เด็กทั้ง 13 คน เป็นหญิง 4 คน ชาย 8 คน อยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จ.นนทบุรี อีก 1 คนเป็นหญิงอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ จ.เชียงใหม่ ทั้งหมดมีอายุระหว่าง 3 ปี 8 เดือน ถึง 4 ปี 6 เดือน จะนำ มาอยู่รวมกันที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด คาดว่าจะใช้เวลา 7 วัน สร้างความคุ้นเคย ก่อนที่สถานสงเคราะห์จะทำเรื่องจำหน่าย เสนอมาให้ตนอนุมัติ รวมแล้วไม่น่าจะเกิน 10 วัน คิดว่าจะสามารถส่งมอบเด็กให้ก่อนหรือทันวันที่ 14 มี.ค. ทราบว่าย่าของเด็กจะเดินทางมาจากญี่ปุ่น ได้เตรียมบ้านไว้ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ให้เด็กๆไปอยู่ ระยะแรก ดย.คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเด็กปรับตัวเข้ากับพี่เลี้ยงใหม่ได้แล้วคงถอนตัว แต่จะติดตามเป็นระยะ เพื่อให้คำแนะนำต่างๆ แต่หากจะนำเด็กไปเลี้ยงที่ญี่ปุ่นก็สามารถทำได้เลยเช่นกัน โดย ดย.จะประสานสถานทูตที่ญี่ปุ่นให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยม
“คิดว่าเด็กในอายุขณะนี้ ไม่น่ามีปัญหาการปรับตัว โดยเฉพาะกับย่าซึ่งบินมาเยี่ยมอยู่ตลอดทุก 2 เดือน ส่วนจะปรับตัวเข้ากับพ่อซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมาเยี่ยมนั้น จากข้อสังเกตที่ส่งเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ไปดู ที่เขามีลูกก่อนหน้าที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 2 คน และกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 4 คน พบว่าเขาเลี้ยงดูเป็นอย่างดี” นายวิทัศน์กล่าว
วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศทั้งเอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ และบีบีซีอังกฤษ รายงานกรณีศาลไทยตัดสินให้นายมิตสุโตกิ ชิเกตะ ชาวญี่ปุ่นวัย 28 ปี ทายาทบริษัทธุรกิจไอทียักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น ชนะคดีว่าจ้างหญิงไทย 9 คน เป็นแม่อุ้มบุญคลอดเด็กทารกรวม 13 คน หลังศาลพิพากษามอบสิทธิเลี้ยงดูเด็กทั้งหมด เนื่องจากเล็งเห็นว่านายชิเกตะพร้อมทั้งด้านทรัพย์สิน และเจตนาที่จะดูแลนำเด็กไปเลี้ยงที่ญี่ปุ่น โดยคดีดังกล่าวเป็นเป้าสนใจระดับนานาชาติในปี 57 เพราะเป็นการว่าจ้างแม่อุ้มบุญเด็กทารกจำนวนมากในคราวเดียว จนถูกขนานนามว่า “โรงงานผลิตเด็ก” ขณะนั้นนายชิเกตะ เดินทางออกนอกประเทศไทย โดยไม่ได้ให้เหตุผลการว่าจ้างอุ้มบุญ ทั้งเคยถูกตำรวจสากลอินเตอร์โปลสอบสวนว่าพัวพันการค้ามนุษย์หรือไม่ ก่อนที่นายชิเกตะจะยื่นฟ้องต่อศาลไทยขอสิทธิดูแลเด็กทั้ง 13 คน เมื่อต้นปี 58
...
นอกจากนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานด้วยว่า คดีอุ้มบุญของนายชิเกตะยังนำไปสู่การที่รัฐบาลไทยออกกฎหมายห้ามรับจ้างอุ้มบุญ บังคับใช้วันที่ 30 ก.ค.58 จนทำให้ธุรกิจประเภทนี้ย้ายฐานไปยังกัมพูชา อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลกัมพูชาออกกฎหมายห้ามเช่นเดียวกันในปี 59 ธุรกิจอุ้มบุญเริ่มไปเติบโตที่ สปป.ลาว ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีบางบริษัทรับจ้างปฏิสนธิตัวอ่อนใน สปป.ลาว ก่อนนำแม่อุ้มบุญที่ตั้งครรภ์มาดูแลในไทย ซึ่งมีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่า