สังคมเปราะบาง พาคนไทยรักขม หย่าร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เตือนรักกันอย่าหลุดประโยคจุดจบ “จะไปไหนก็ไปซะ”

ยิ่งใกล้ถึงวันวาเลนไทน์ ใคร ๆ ก็อยากมีความรักแบบสุขสดชื่นสมหวัง แฮปปี้จนเอนดิ้งตราบนิรันดร์ แต่ของแบบนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสมหวัง ยิ่งยุคนี้ด้วยแล้วสังคมเปราะบาง ชีวิตมีความกดดัน มีเหตุให้ชีวิตรักของหลายคู่หักสะบั้นลง จบลงด้วยการหย่าร้าง

จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สรุปยอดผู้จดทะเบียนสมรสที่พบว่ายอดลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับยอดหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2560 มียอดจดทะเบียนสมรสทั่วประเทศ 297,501 คู่ ขณะที่ปี 2559 มียอดจดทะเบียน 307,746 คู่ คิดเป็นน้อยลง 10,245 คู่ ส่วนยอดจดทะเบียนหย่าร้าง ปี 2560 มีจำนวน 121,617 คู่ ปี 2559 มียอดหย่าร้าง 118,539 คู่ เพิ่มขึ้น 3,078 คู่

จะเห็นได้ว่า จำนวนการหย่าร้างสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2560 นี้มีมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ที่จดทะเบียนสมรส

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่าสถิติการหย่าร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้เป็นไปตามภาวะสังคมที่มีความกดดันหลายด้าน โดยเฉพาะคนทำงานในเมืองใหญ่ ที่มีสัดส่วนการหย่าร้างสูงกว่าชนบท เพราะต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลาให้กัน มีความเหน็ดเหนื่อยในการทำงาน มีความกดดันจนเครียด และพูดจากันไม่ดี ดังนั้นความสัมพันธ์ของครอบครัว เรื่องคำพูดจึงสำคัญ ซึ่งประโยคที่มักนำไปสู่การแตกหักหย่าร้าง คือ “จะไปไหนก็ไปซะ” ซึ่งในภาวะที่ความสัมพันธ์สั่นคลอน คำพูดนี้ทำให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจได้มากที่สุด

...

นอกจากนี้ยังมีคำพูดที่บั่นทอนความสัมพันธ์ เช่น กลับมาถึงบ้านแล้ว ถามว่า “ไปไหนมา” ซักถามละเอียดแบบไม่ไว้วางใจ แต่ถ้าถามในเชิงห่วงใย เช่น เหนื่อยไหม ทำให้มีความรู้สึกดีกว่า

ปัญหานี้มักเกิดในกลุ่มที่อยู่ในเมืองใหญ่ คนทำงานหนัก และกลุ่มที่มีฐานะที่มีธุรกิจต้องทำ ต้องทุ่มเทเวลาให้กับงานมากจนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เป็นกลุ่มที่หย่ากันมากกว่ากลุ่มที่อยู่นอกเมือง หรือในชนบท ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ มีเวลาอยู่ด้วยกันมากกว่า ซึ่งทางออกสำหรับครอบครัวบางครั้งคำตอบจึงไม่ใช่เพียงแค่มีรายได้ หรือมีเงินมากเท่านั้น สิ่งสำคัญจึงเป็นเรื่องของเวลาที่ให้กันมากกว่า

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตคู่ยังมาจากจุดเริ่มต้นของความรัก ความเข้าใจ ที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องมีความเข้าใจในเรื่องของเพศตรงข้ามทั้งด้านร่างกายและจิตใจเป็นอย่างดี

แม้การหย่าร้างไม่ใช่จุดจบที่สวยงาม แต่บางครั้งส่งผลดีกับลูกมากกว่า สถานการณ์นี้ แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิต และวัยรุ่น ราชนครินทร์ อธิบายว่า แม้การหย่าร้างไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด แต่หากพ่อแม่ทะเลาะกัน ลูกก็จะซึมซับความรุนแรง หลายคนจึงเลือกวิธีเลิกกัน แต่ยังเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูก ก็ทำให้เด็กไม่มีปัญหา

“ปัญหาที่เกิดขึ้นจนส่งผลกับเด็กและวัยรุ่น จนพ่อแม่ต้องพามาหาจิตแพทย์คือ พ่อแม่เลิกรักกันแล้ว มีการฟ้องร้องหย่าร้างเป็นคดียาวนาน จนเกิดความขัดแย้ง และทำให้ลูกเครียด หรือพ่อแม่บังคับให้ลูกเลือกข้างว่าจะรักพ่อหรือแม่ หรือรุนแรงถึงขั้นให้เกลียดอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ที่ผู้ใหญ่ต้องแก้เพื่อให้ลูกไม่เครียด”

เมื่อโลกหมุนเร็ว สังคมเปลี่ยนแปลง ถึงอย่างไรชีวิตคู่ที่เริ่มต้นด้วยความรัก ก็เป็นพื้นฐานที่ดีในการสร้างครอบครัว แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องจบ ก็ต้องทำใจ และต้องหาทางจบที่ไม่ให้ใครต้องเจ็บปวด จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด