ป๊าดโซะ! แอ่วเหนืองานเที่ยวไทยสวนลุมฯ

คำเมืองมีคำอุทานอยู่หลายคำ เช่น เมื่อทำอะไรให้เสียหาย มักก่นเสียง “เอ๋อ เอ๊ย!” แต่หากออกอาการสงสารจะอุทานเสียงอ่อย “อ๋อ อ๊อย” หรือถ้าเจ็บจะอุทานเป็นว่า “อั่นหล๊า!”

ส่วนเวลาตะลึงสิ่งใดคนภาคกลางจะร้องเสียงหลง “โอ้โห!” คนภาคใต้ร้อง “อั๊ยหยา!” คำเมืองร้องยังงี้ “ป๊าดโซะ!” นี่จึงเป็นที่มาของ “ป๊าดโซะ! แอ่วเหนือ งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งล่าที่สวนลุมพินี มีของดีของงามสะป๊ะสะเปด”...

แปลแบบกระชับ...โอ้โห! เที่ยวเหนืองานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยปีนี้ ที่สวนลุมพินี มีของดีของงามมากมาย ซึ่งก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งกับการนำเอาวัฒนธรรมภาษามาใช้เป็นจุดขายสำหรับการเปิดตลาดท่องเที่ยวไทย

ย้อนอดีตครั้งแรกเมื่อปี 2523 ยุคพันเอก สมชาย หิรัญกิจ เป็นผู้ว่าการ ททท.คนแรก ตาม พ.ร.บ.การท่องเที่ยวฯ ปี 2522 มีการจัดงานครั้งแรกที่อาคารสวนอัมพร หรือพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในปัจจุบัน มีนายถนัด คอมันตร์ ขณะทำหน้าที่ประธานกรรมการ ททท.ขณะนั้น เป็นประธานพิธีเปิด

กูรูผู้คุ้นกับงานที่ว่านี้ เผยว่า งานนี้เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ด้วยการนำเสนอสินค้า (Product) ทางการท่องเที่ยว คือแหล่งท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค ให้ผู้สนใจตัดสินใจเลือก มี “เชลล์ชวนชิม” อาหารจากทุกภาคให้ลองชิม มีการแสดงวัฒนธรรมให้ชม ก่อนคิดวางแผนเดินทางท่องเที่ยว

นี่คือเจตนารมณ์ของการริเริ่มสร้างจุดขายใหม่ในยุคนั้น

ครั้งนั้นถือเป็นมหกรรมตลาดไทยเที่ยวไทยครั้งแรกที่เกิดขึ้นและได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น ผู้คนล้นหลามลานพระบรมรูปทรงม้า ขยายไปถึงถนนราชดำเนินนอกและถนนศรีอยุธยา นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยที่เพิ่งก่อตัวขึ้นในยุคแรกๆ

...

มหกรรมดังกล่าวจัดกันทุกปีต่อเนื่องเรื่อยมา กระทั่งเมื่อเริ่มย้ายสถานที่ไปจัดยังสวนน้ำชานเมืองมีนบุรี จึงดูไม่สู้จะประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุดก็ต้องเก็บมุ้งหมกหมอนนอนเสื่อไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเริ่มไม่มีอะไรใหม่ ผนวกกับถูกการเมืองแทรกแซงรุนแรงหนักขึ้น

กระนั้น...ก็ยังมีการจัดขึ้นบ้างบางปี ย่อส่วนลงเป็นแบบงาน “เที่ยวไทย 4 ภาค” จัดกันที่ จ.อุบลราชธานี ครั้งหนึ่ง กับ จ.อุดรธานี อีกครั้งหนึ่ง ครั้นพอปี 2550 พรศิริ มโนหาญ พนักงานลูกหม้อ ททท.ได้รับการคัดสรรขึ้นเป็นผู้ว่าการฯ คนที่ 6 ถึงได้ปัดฝุ่นและรื้อฟื้นงานขึ้นมาใหม่ จัดกันที่อิมแพค เมืองทองธานี ต่อเนื่องกระทั่งปี 2558 ยุคผลัดเปลี่ยนผู้ว่าการฯจากคนนอกวงการเข้ามาบริหารงานท่องเที่ยว จึงเปลี่ยนสถานที่มาจัดกันที่สวนลุมพินีแทนถึงปีนี้...จึงอยากให้มองงานล่าสุดปีนี้ ไม่น่าจะใช่ หากลบปีที่เป็นสุญญากาศออกไป...

แต่เมื่อเดอะโชว์มัสต์โกออน เพื่อให้งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2561 เป็นมหกรรมด้านตลาดได้ดำเนินต่อไป ก็ต้องมาดูกันว่า ผลสำเร็จที่จะก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนภายในสวนลุมพินีตามคาดหวังเอาไว้ที่ 5 พันล้านบาท ตลอด 5 วันนั้น จะขยายผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวตลอดปีนี้ แล้วจะมีอะไรเป็นสินค้าตัวใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจขึ้นมาจูงใจได้บ้าง?

นักวิเคราะห์ตลาดท่องเที่ยวทั้งกลุ่มเก่าและใหม่ตามเทรนด์ท่องเที่ยวปัจจุบัน โฟกัสรูปแบบการเลือกสินค้าพร้อมขายกับวิธีการนำเสนอขายแล้ว ยกนิ้วกดไลค์ให้...“ภาคเหนือ” ที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเป็นทุนเดิม ทั้งด้านความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว บวกปัจจัยพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่พร้อมรองรับ ตลอดจนบุคลากรด้านบริการคุณภาพในทุกๆแขนง โดยเลือกธีม “เหนือฝันล้านแรงบันดาลใจ”

ภายใต้แนวคิด “อลังการล้านนา!” มีการจำลองบรรยากาศลานธรรมจากศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ที่เคยรับคณะก้าวคนละก้าวเบตง-แม่สาย และเมื่อเช้าตรู่ 19 มกราคม พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ก็ได้ออกนำคณะสงฆ์ 9 รูป จากไร่รับบิณฑบาตกลางสวน พร้อมแสดงธรรม...ส่วนบริเวณหมู่บ้านภาคเหนือเป็นการเปิดเวทีต่อนยอน ดึงเอาบรรยากาศความหนาวเย็นบนป่าดอยห่มหมอกบนพื้นที่สูง กับอุณหภูมิที่เย็นอบอุ่นบนพื้นที่ราบมาเคล้ากับสร้อยเพลงอมตะ “ฮานี้บ่าเฮ้ย” ของลุงจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินล้านนาในอดีต

“...ต่อนยอน, ต๊ะ ต่อนยอน, ต๊ะ ต่อนยอน ต่อนยอน ต่อนยอน”

สิ่งที่ถือว่าเหนือฝันกับอาการต่อนยอน อันน่าจะหมายถึงความพลิ้วไหวเนิบๆของจาวเหนือ หรือสุดชิลของชาวเหนือยุคใหม่ ก็คือการจัดนำวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนามาสะท้อนความเป็นตัวตนของคนแผ่นดินนี้

โดยใช้ผู้แสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ที่มีความชำนาญด้านการถ่ายทอดตามศิลปะต้นแบบโบราณ และที่ประยุกต์ผสมผสานศิลปะร่วมสมัยอีกต่างหาก และส่วนที่จะขาดสีสันเสียมิได้สำหรับคน พ.ศ.นี้ ก็คือการแสดงดนตรีสมัยนิยมในรูปมินิคอนเสิร์ตความอลังการส่วนที่ 2 ที่ดูเหมือนจะผูกร้อยมากับปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน ซึ่งถูกนำมาชูเป็นจุดขายหลักปีนี้ ได้แก่ การนำชุมชนชาติพันธุ์ชาวเหนือมาบรรจุไว้ในเรือนศาลาตำแหน่งหมู่บ้านภาคเหนือ กลางร่มเงาแมกไม้สวนลุมพินี สำหรับสื่อวิถีจริงของคนกลุ่มนี้ที่มีมากถึง 10 ชุมชนโดย “คนเมืองหลวง” อาจจะยังไม่เคยได้สัมผัส อาทิ ชุมชนโหล่งฮิมดาว จ.เชียงใหม่

ชุมชนบ้านปางห้า จ.เชียงราย และมีสักกี่คนที่พอจะรู้บ้างว่า จ.แม่ฮ่องสอน เมืองสามหมอกมีชาวดอยสเตอร์ (Doister) หรือที่ จ.ตาก ตามแนวเทือกเขาถนนธงชัย มีชุมชนบ้านกล้อทอ ส่วนที่ จ.เพชรบูรณ์ มีชุมชนพุเตย

...

ขณะที่ จ.อุทัยธานี มีชุมชนเกษตรเกาะเทโพ จ.สุโขทัย นำชุมชนบ้านเก่าที่มีเรื่องเล่าขานมากมาย...จ.ลำพูน แดนหริภุญไชย เน้นชุมชนพระบาทห้วยต้ม...ที่ จ.น่าน ถึงจะเริ่มมีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมป่าเขา แต่ก็มีชุมชนบ้านบ่อสวกดึงดูดความน่าสนใจ... จ.นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ใกล้กรุง มีชุมชนบ้านเกยชัย ผู้ขลุกอยู่กับวิถีคนปีนตาลจนวันนี้

อลังการส่วนถัดมา...ถอดโครงสร้างมาจาก “กาดม่วนใจ๋” ชวนกินอาหารถิ่นแบบปูอ่องของเจียงใหม่, ไส้อั่วสมุนไพรจากพะเยา, พิซซ่าม้งหนึ่งเดียวในโลกจากเพชรบูรณ์, เมี่ยงจอมพล (อาหารโปรดจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของไทย) จ.ตาก, ข้าวปุ๊กงาอาหารถิ่นเมืองสามหมอก, ลาบหมูหมี่แห่งนันทบุรี ศรีนครน่าน, เบอร์เกอร์ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี, ข้าวแต๋นของดีเมืองรถม้าเขลางค์นคร, ก๋วยเตี๋ยวไทยโบราณแดนชาละวันพิจิตร, ขนมเทียนเสวยเมืองพระยาพิชัยฯ

ลำบ่ลำ?...ไปโตยกั๋นป๊ะ!

สารพัดสารพันสินค้าประดามี อย่างที่คนเมืองเขากล่าวกันว่า “สะป๊ะสะเปด” ที่ถูกนำมาจัดแสดงและเสนอขายประดับงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยปีนี้ ไม่ต้องคิดมากว่าจัดมาครั้งที่เท่าไหร่แล้ว เพราะยังถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยให้ก้าวไกลไปพร้อมกับความเป็นไทยแลนด์ 4.0

ตามรูปรอยแห่งความหวังที่ตั้งกันไว้ และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า...“ท่องเที่ยว” ไม่ใช่เรื่องจะ “เที่ยวฝัน” กันอย่างลมๆแล้งๆ เหมือนวันวานที่ผ่านมา.