มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดพิธีมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณและครูขวัญศิษย์ เชิดชูเครือข่ายครูผู้เปลี่ยนชีวิตศิษย์ เผยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงย้ำครูทุกวันนี้ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เจอปัญหาไม่ย่อท้อต้องสู้ ทรงเผย "ในหลวง รัชกาลที่ 9" ทรงย้ำสอนเวลาเจอปัญหาอย่าทำให้เป็นปัญหา เปิดชีวิตครูผู้ทุ่มเทยืนหยัดพัฒนาเยาวชนและชุมชนไทยภูเขา และครูหัวใจแกร่งนราธิวาสในพื้นที่สีแดง
เมื่อวันที่ 12 ต.ค.60 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซนเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดพิธีมอบรางวัลคุณากร รางวัลครูยิ่งคุณ และรางวัลครูขวัญศิษย์ ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากจังหวัดทั่วประเทศ โดยเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา โดยมี ดร.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมอบรางวัล
ดร.ธีระเกียรติ กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าจนมีคนมาบอกว่านักเรียนจะเรียนรู้ด้วยตนเองและครูจะหมดความสำคัญ แต่ที่จริงแล้วครูยังมีความสำคัญ ออนไลน์ทำให้ครูสำคัญมากขึ้น มีงานวิจัยที่พบว่าการสอนของครูเอเชียที่ทำให้ผลการเรียนดีกว่าตะวันตกเพราะครูสิงคโปร์ และจีนสอนจากของจริง เรียนคณิตศาสตร์จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่สอนวิธีท่องจำ อย่างไรก็ตาม จากคำกล่าวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ระบุว่า ครูมี 3 ประเภท คือ 1. ครูอาชีพ ซึ่งเป็นครูที่มีจิตวิญญาณของครูสูง ไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก 2. ครูมืออาชีพคือสอนเก่ง ทักษะดี และ 3. อาชีพครู คือมีอาชีพรับจ้างเพื่อรับเงินเดือน ซึ่งตรงกับครูที่ชอบบ่น คนที่ชอบสอน และครูที่เป็นแรงบันดาลใจ เมื่อวานได้มีโอกาสทูลถามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในขณะร่วมโต๊ะเสวย ท่านทรงย้ำว่า ครูทุกวันนี้ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เจอปัญหาไม่ย่อท้อต้องสู้ ทำไมเดี๋ยวนี้มีเด็กซึมเศร้า ครูซึมเศร้า แต่ท่านไม่เศร้า ไม่ซึม ท่านสู้ จึงทูลถามว่าในสมัยที่ทรงพระเยาว์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนอะไรเวลาเจอปัญหา ท่านตอบว่าไม่ใช่ตอนเล็กๆ แม้โตแล้วท่านก็บอกว่า "อย่าทำให้เป็นปัญหาอีกคน" ดังนั้นครูที่ดีจึงไม่ใช่ครูที่ชอบบ่นและมองถึงปัญหา
...
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ที่มาของการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของประเทศไทย มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการจังหวัดที่มาจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมกว่า 1,000 คน จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ได้มีโอกาสแสวงหากลุ่มครูที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดยมูลนิธิฯ ได้กำหนดรางวัลเป็น 3 ระดับคือ 1. รางวัลคุณากร 2 คน 2. รางวัลครูยิ่งคุณ 17 คน และ 3. รางวัลครูขวัญศิษย์ 137 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 156 คน สิ่งสำคัญคือครูเครือข่ายของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีรุ่นที่ 2 ที่มีอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนด้านคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นเพื่อขยายผลความสำเร็จไปยังลูกศิษย์และเพื่อนครูในโรงเรียนรูปแบบต่างๆ เช่น ครูของมูลนิธิฯ รุ่นที่ 1 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินโครงการสร้างเสริมการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะจำนวน 110 โครงการ จัดทำบทเรียนองค์ความรู้เพื่อสุขภาวะ 65 บทเรียน และเกิดเป็นเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มูลนิธิร่มฉัตร และสภาหอการค้าไทย
นายจิรัฐฏ์ แจ่มสว่าง ครูเชี่ยวชาญ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี จ.นนทบุรี บรรยายพิเศษในหัวข้อแรงบันดาลใจของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560 ว่า ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งประเทศคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จฯ ไปทุกที่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนทุกคนและตนซึ่งได้รับทุนภูมิพลที่ไม่มีเงื่อนไข จากเดิมที่มีอาชีพครูเพื่อส่งตัวเองเรียนต่อเปลี่ยนเป็นครูมืออาชีพ โดยการสอนเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อเป็นตัวกระตุ้นนักเรียนหลังห้องและปรับพฤติกรรมให้รู้จักการทำงานเป็นทีม ซึ่งในชมรมจะมีทั้งเด็กกลุ่มเรียนดีกับกลุ่มหลังห้อง แต่กลายเป็นเด็กหลังห้องจะมีทักษะที่ดีกว่า ทั้งนี้การเป็นครูมืออาชีพต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ต้องสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียน มองปัญหาเป็นความท้าทาย และสอนนักเรียนด้วยหัวใจ โดยยึดหัวใจของวิชา เช่น หัวใจของวิชาพละคือให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย อย่าตั้งเป้าว่านักเรียนต้องชูตบาสแต่ควรตัดแป้นบาสให้สั้นลงเพื่อให้นักเรียนสนุกกับการโยนลูกเข้าแป้นเพื่อให้ออกกำลังกาย ครูต้องรู้จักแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ เด็กที่เก่งก็ส่งเสริมสู่ความเป็นเลิศ ส่วนเด็กที่อ่อนก็เสริมเขาขึ้นมา ทุกเรื่องจึงต้องหาหัวใจให้เจอ เช่น ยุคนี้เป็นการสอนให้เด็กมีทักษะในศตวรรษที่ 21 หัวใจสำคัญคือการสอนนักเรียนให้มีทักษะอาชีพและทักษะชีวิต ยุคแห่งไทยแลนด์ 4.0 หัวใจอยู่ที่นวัตกรรมที่สามารถแทรกได้กับทุกเรื่อง เช่น การตั้งโจทย์ให้นักเรียนชั้น ม.1 คิดนวัตกรรมกุหลาบวาเลนไทน์จึงได้ชิ้นงานกุหลาบเซนเซอร์ที่ไฟติดเฉพาะกับคนที่ชอบ ดังนั้นเมื่อสอนเด็กทำนวัตกรรมครูก็ต้องมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง และไม่ควรจบที่ทำเล่มเพื่อรายงาน แต่ต้องนำไปใช้กับนักเรียนและเห็นผลที่นักเรียน
สำหรับครูที่น่าสนใจ อาทิ ครูรางวัลคุณากร ครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูเพียงคนเดียวของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านกรูโบ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่ยืนหยัดและมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ควบคู่ไปกับสอนหนังสือให้กับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เพียงลำพังมาตลอดระยะเวลา 19 ปี ในชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านสุดท้ายที่อยู่ลึกที่สุดในเขตพื้นที่ของผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร และครูศรัณย์ ศรีมะเริง ครูชำนาญการพิเศษสอนวิชาดนตรี โรงเรียนเมืองนครราชสีมา ที่อยากเห็นเด็กไทยมีความรู้ความสามารถดนตรีเทียบเท่าระดับสากล จึงพัฒนาสื่อการสอนผ่านรูปแบบ "วงโยธวาทิต" ด้วยความเชื่อว่าดนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกศิษย์ให้ดีขึ้น
รางวัลครูยิ่งคุณ อาทิ ครูเบญจมาศ วัยนิพิฐพงษ์ โรงเรียนบ้านห้วยกบ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จากบัณฑิตจิตอาสาสู่แม่ครูของเด็กไร้รัฐ บ่มเพาะคนดีคืนถิ่นด้วยความรู้และความเท่าเทียม ครูกานต์ชนก มางัดสาเระ ครูหัวใจแกร่งจากโรงเรียนบูกิตประชาอุปถัมภ์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ที่ยืนหยัดทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่สีแดงมานานกว่า 20 ปี แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่