มจร.เปิดผลงานวิจัย 16 สถาบันอุดมศึกษา ในงานพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พบปรากฏการณ์คนไทยแห่กราบพระบรมศพเนืองแน่น เกิดจากความทรงจำ ความประทับใจในพระจริยวัตร ความทุ่มเทพระวรกาย หลักธรรมที่ทรงใช้กับพสกนิกร ทั้งยังพบว่าความรักความศรัทธาของประชาชนที่มี ส่งผลให้เกิดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หลากรูปแบบ รวมถึงวลีสำคัญ “ขอทำเพื่อพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย” ที่นำมาใช้ยุติปัญหาความขัดแย้งในรอบ 1 ปี ขณะที่มหาจุฬาฯ สรุปตัวเลข พระเณร แม่ชี นักบวช ที่มาปลงธรรมสังเวชพระบรมศพ 337 วัน กว่า 1 แสนรูป ด้านกรมศิลปากร เตรียมซ้อมยก “พระนพปฎลมหาเศวตรฉัตร” ประดับพระเมรุมาศ 12 และ 17 ต.ค.นี้
จากการที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และนักวิจัยจาก 16 สถาบันอุดมศึกษา ร่วมกันจัดทำงานวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการการมีส่วนร่วมในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช” เป้าหมายเพื่อค้นหาคำตอบ ปรากฏการณ์ความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทย ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี ของการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะภาพประชาชนจำนวนมากจากทั่วประเทศ ที่แห่กันมาต่อคิวเข้ากราบสักการะพระบรมศพ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ผศ.ดร.ธีรภัค ไชยชนะ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) หนึ่งในทีมวิจัย เผยว่าขณะนี้ผลงานวิจัยมีความคืบหน้าไปมากกว่าร้อยละ 70 ทีมวิจัยที่ประกอบไปด้วยคณาจารย์ นักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ทั้งพระและฆราวาส รวมกว่าร้อยคน แจกจ่ายแบบสอบถามให้กับประชาชนที่มาเข้าคิวรอกราบสักการะพระบรมศพ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆที่มีส่วนร่วม รวมถึงผู้นำชุมชนในจังหวัดต่างๆไปกว่า 1 แสนชุด เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ เบื้องต้นได้ข้อมูลประกอบที่น่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ ในหัวข้อวิจัยเรื่อง องค์ความรู้การ บริหารจัดการพระบรมศพ ในหลวง ร.9 พบว่า ในการจัดการงานพระบรมศพ มีหน่วยงานต่างๆ มากถึง 16 กระทรวง ภาคเอกชน ภาคประชาชน แต่การปฏิบัติงานร่วมกันนั้นกลับไม่เกิดความขัดแย้ง เป็นภาพที่พบได้ไม่ง่ายนัก ผลวิจัยชี้ว่า ได้พบวลีหนึ่งที่ว่า “ขอทำเพื่อน้อมนำถวายพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย” ทุกหน่วยงานมักใช้เป็นหลักคิด ทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ในการทำงานไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นสามารถยุติได้
...
ผศ.ดร.ธีรภัคกล่าวด้วยว่า สำหรับปรากฏการณ์ที่มีประชาชนเดินทางมาแสดงความอาลัยจำนวนมาก ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่ามาจากการที่พสกนิกรชาวไทยซาบซึ้งในพระจริยวัตร และความทุ่มเทพระวรกายของพระองค์ที่ทรงมีต่อประชาชนตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ ประกอบด้วย 1.พระราชกรณีกิจพระองค์ 2.หลักธรรมในพุทธศาสนา ที่ทรงยึดถือ คือทศพิธราชธรรม พรหมวิหารสี่ สังคหวัตถุสี่ 3.พระดำรัสของพระองค์ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” ทั้งหมดล้วนทำให้เกิดภาพประวัติศาสตร์ของความรักความศรัทธา จนถึงทำให้ประชาชนยอมมาต่อแถวรอกราบพระบรมศพนานหลายชั่วโมง
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบด้วยว่า ในงานพระบรมศพได้เกิดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนมากมายหลายรูปแบบ กระบวนการที่เกิดทั้งหมด ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยการสัมภาษณ์ เจาะลึกในรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ทราบที่มา พบว่าเริ่มจากการที่มีบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม นำการปฏิบัติเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้มาเผยแพร่ นับตั้งแต่การจุดเทียน วางดอกไม้ การแสดงดนตรี วาดรูป ร้องเพลง ทำให้มีผู้ปฏิบัติตาม แต่ล้วนมาจากแนวคิดในการต้องการการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และความโศกเศร้าของประชาชน ที่ออกมาจากใจ ไม่ได้มีการแต่งเสริมใดๆทั้งสิ้น สรุปในเบื้องต้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิด ประโยชน์ต่อประเทศชาติ คือประชาชนมีความรักสามัคคี แบ่งบัน ช่วยเหลือกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือน มี.ค.61 เพราะต้องรอการเก็บข้อมูลใน 3 ช่วงสุดท้าย คือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ช่วงหลังการจัดนิทรรศการ และช่วงจบงานคืนพื้นที่ท้องสนามหลวงทั้งหมด จึงจะถือได้ว่าเสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลสรุปและข้อมูลการวิจัยทั้งหมด จะถอดเป็นบทเรียนนำเสนอต่อรัฐบาลไว้ปรับใช้เป็นโมเดลในการพัฒนาประเทศต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการที่กองอำนวยการ ร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยโดยรอบพระบรม มหาราชวัง (กอร.รส.) มอบหมายให้ มจร.และคณะสงฆ์ กทม.ร่วมกันจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกพระภิกษุสามเณรที่มาเจริญจิตตภาวนาปลงธรรมสังเวชพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่บริเวณถนนมหาราช เยื้องประตูเทวภิรมย์ ผศ.ดร.ธีรภัค ในฐานะเลขานุการศูนย์ฯ เผยว่าทางศูนย์ได้ยุติบทบาทไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปิดศูนย์ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.59 ถึง 30 ก.ย.รวม 337 วัน มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี นักบวชต่างๆ เดินทางมาร่วมปลงธรรมสังเวชและกราบพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รวมทั้งสิ้น 158,000 กว่ารูป
สำหรับบรรยากาศที่พระบรมมหาราชวัง ตลอดทั้งวัน ประชาชนจากทั่วสารทิศยังคงแต่งกายด้วยชุดไว้ทุกข์เข้าแถวรอถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักพระราชวังสรุปยอดรวมประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ตั้งแต่เวลา 00.01 น. จนถึงเวลา 24.00 น. มีจำนวนทั้งสิ้น 64,700 คน รวม 332 วัน มี 11,564,102 คน และประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 4,048,937.25 บาท รวม 332 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 860,329,098.51 บาท
ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักปั่นจากกลุ่มจักรยานวันอาทิตย์จังหวัดพิษณุโลก กว่า 1,000 คน ร่วมทำกิจกรรมกราบลาพ่อของแผ่นดิน ปั่นจักรยานจากจังหวัดพิษณุโลกมาแสดงความอาลัย วางดอกไม้จันทน์ที่หอประชุมศรีบูรพา จากนั้นร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 90 วินาที ที่บริเวณสนามฟุตบอล ทั้งนี้ นายณฐพบธรรม พบธรรมเจริญใจ อายุ 49 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มฯ เปิดเผยว่า เริ่มต้นออกเดินทางวันที่ 30 ก.ย. ก่อนพักค้างคืนที่ จ.อ่างทอง และเดินทางต่อจนถึงจุดหมาย รวมระยะ 412 กม. ซึ่งเป็นการรวมตัวนักปั่นจากกลุ่มภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ชักชวนผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อมากราบพ่อเป็นครั้งสุดท้าย บางคนปั่นไปแล้วน้ำตาไหลก็มี และส่วนตัวยึดคำสอนเรื่องการระเบิดจากข้างในเป็นหลักในการทำงาน
...
นอกจากนี้ วันเดียวกันผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดสร้างพระนพปฎลมหาเศวตรฉัตร ประดับพระเมรุมาศว่า การออกแบบพระนพปฎลมหาเศวตรฉัตรได้นำต้นแบบจากพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 6 และพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 8 มาเป็นต้นแบบ จัดสร้างตามแบบโบราณราชประเพณีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ตามความหมายคือ นพ แปลว่า เก้า เศวตร แปลว่า ขาว ส่วนฉัตรคือ ร่มขาวที่กางทั้งหมด 9 ชั้น โดยการจัดสร้างนพปฎลมหาเศวตรฉัตรครั้งนี้ มีความพิเศษคือมีขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ส่วนปลียอดจนถึงยอดสุด 5.10 เมตร ที่สำคัญที่บริเวณส่วนยอดของฉัตรทำตามแบบโบราณราชประเพณีคือ พระนพปฎล มหาเศวตรฉัตร มีลักษณะเป็นทรงจอมเจดีย์ จากนั้นเป็นบัวกลุ่ม คั่นด้วยลูกแก้ว บัวกลุ่มต่อด้วยปลี ปลาย เป็นโลหะทองแดงกลึงรับ เพื่อต่อสายล่อฟ้าด้วย และในวันที่ 12 กับ 17 ต.ค.นี้ จะมีการซ้อมยกฉัตร จะใช้การวางสลิงแขวนฉัตรจากบริเวณพระที่นั่งทรงธรรมหมุนสลิงผ่านลอกหมุนกว้านขึ้นไปข้างบนเมื่อวัดระยะความสูงของยอดพระเมรุมาศกับองศาแนวเอียงรวมกันประมาณกว่า 100 เมตร ซึ่งด้านบนจะมีผู้คอยประคองฉัตรและติดตั้งเชื่อมสลักป้องกันไม่ให้ฉัตรหมุนจนเสร็จสมบูรณ์