เป็นไปได้ยาก “ค่าจ้างขั้นต่ำ 700 บาท” ปลัดแรงงานยันขอให้อยู่กับความเป็นจริง เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง ต้องอยู่รอด เผยการพิจารณาค่าจ้างระดับจังหวัดและส่วนกลาง เป็นระบบไตรภาคีมีกฎหมายกำหนด จะให้ยกเลิกใช้ระบบอื่นไม่ได้ แย้มเดือน ต.ค. บอร์ดค่าจ้างเตรียมเคาะอัตราใหม่ ปี 61 จะปรับขึ้นมากกว่าปีก่อนที่ขึ้นใน 69 จังหวัด 5-10 บาท เพราะเศรษฐกิจดีขึ้น แต่จะไม่เท่ากันทุกจังหวัด ขึ้นอยู่กับต้นทุนสภาพเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัด ขณะที่ ส.อ.ท.ชี้หากขึ้นค่าแรงสุดโต่ง กลุ่มบริการ โรงแรมกระอักแน่
จากกรณีที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 61 ในอัตราเดียวกันทั่วประเทศพร้อมจี้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และบอร์ดค่าจ้าง บอกไม่มีประโยชน์ห่วงรัฐบาลอุ้มแต่นายจ้าง โดยระบุค่าจ้างปัจจุบันควรอยู่ที่ 600-700 บาทนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าว ว่าการเรียกร้องขอปรับค่าจ้างมากถึง 700 บาท เป็นไปไม่ได้ การปรับค่าจ้างจะต้องอยู่บนความเป็นจริง ต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การพิจารณาค่าจ้างเป็นระบบไตรภาคี มีอนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดรวบรวมข้อมูล ปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจ ซึ่งระบบไตรภาคีมีกฎหมายกำหนดไว้จะให้ยกเลิกไปใช้วิธีอื่นไม่ได้ โดยในปีนี้ยังใช้สูตรการพิจารณา 10 รายการ เหมือนปีที่ผ่านมา อาทิ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต แต่จะครอบคลุมมากขึ้น
ม.ล.ปุณฑริกกล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมากลุ่มผู้ใช้แรงงานเรียกร้องปรับขึ้น 360 บาท แต่สภาพเศรษฐกิจช่วงนั้นยังไม่ดีจึงปรับมากไม่ได้ ครั้งแรกคาดว่าน่าจะปรับขึ้นได้ถึง 320 บาท แต่เมื่อนำข้อมูลการปรับค่าจ้างและปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจมาเข้าสูตรคำนวณ สามารถปรับขึ้นได้ 5-10 บาท ใน 69 จังหวัด ค่าจ้างจาก 300บาทขยับไปเป็น 305, 308 และ 310 บาท ส่วนอีก 8 จังหวัด ไม่ปรับขึ้น ยังคงที่ 300 บาท เพราะสูตรกำหนดให้ปรับขึ้นไม่ถึง 1 บาท แต่ในปีนี้เศรษฐกิจโตขึ้นจึงจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแน่นอน และอาจจะปรับขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่จะไม่ใช้การปรับขึ้นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพราะแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจ มีปัจจัยต้นทุนแตกต่างกัน ค่าจ้างจึงต้องแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามใน 8 จังหวัดที่ปีก่อนไม่ได้ปรับ จะนำตัวเลขมาทบกับปีนี้เพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำขยับขึ้น ซึ่งตามปกติคณะกรรมการค่าจ้างจะต้องประชุมพิจารณาปรับค่าจ้างในเดือน ก.ย. แต่ครั้งนี้อาจต้องเลื่อนไปประชุมในเดือน ต.ค. เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 ม.ค.61
...
ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราสูงสุดที่ 310 บาท ส่วนการปรับครั้งนี้จะได้เท่าไหร่ จะไปแตะที่ 360 บาท ตามที่เคยร้องขอหรือไม่ ก็ต้องรอดูผลการพิจารณาของบอร์ดค่าจ้าง ที่มีเหตุผลพิจารณาบนความเป็นจริง ไม่ใช่เอาคนหมู่มากมาเรียกร้องกดดัน ค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศออกไปนั้นเป็นเพียงค่าจ้างแรกเข้า ยังมีค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งขณะนี้มี 67 สาขา มีอัตราจ้าง 320-800 บาท ขณะที่ค่าจ้างในกลุ่มประมง นายจ้างขาดแคลนจึงกำหนดค่าจ้างที่วันละ 400 บาท เดือนละ 12,000 บาท ทำให้อยู่ได้ทั้งสองฝ่าย แนวโน้มต่อไปในแต่ละอุตสาหกรรมอาจจะต้องกำหนดค่าจ้างของตัวเอง ค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเพียงฐานค่าจ้างที่ต้องได้เท่านั้น ส่วนที่ คสรท. สำรวจอัตราค่าจ้าง ค่าครองชีพ ในแต่ละจังหวัด และยังมีการจ้างงานไม่ถึงวันละ 300 บาท คงเป็นการสำรวจกันเองเฉพาะในกลุ่มเอามาใช้ในภาพรวมไม่ได้ ต่างจากของกระทรวงแรงงาน ที่มีการใช้สูตรจากตัวอย่างในต่างประเทศเป็นเกณฑ์การคำนวณ มีนักวิชาการจากแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆร่วมกันทำงาน จึงครอบคลุมทุกมิติ
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ยังไม่ทราบข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเป็น 700 บาทต่อวัน ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ เพราะหากคิดรวมรายเดือนเท่ากับเกือบ 20,000 บาทต่อเดือน สูงกว่าค่าจ้างแรงงานผู้ที่จบปริญญาตรีที่มีอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มนายจ้างอาชีพบริการ อาทิ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรืองานบริการอื่นๆ เพราะใช้คนงานจำนวนมาก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโรงงานขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง หันไปใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นแล้ว ดังนั้น หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงอีกรอบกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจะไม่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ
อย่างไรก็ดี วันเดียวกัน นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. กล่าวว่า ตัวเลข 600-700 บาท ที่พูดออกไป เป็นเพียงการยกเอาผลการสำรวจของ คสรท. เมื่อปี 2554 ซึ่งผลสำรวจค่าจ้างที่เพียงพอในปีนั้นอยู่ที่ 560 บาท แต่ผ่านมาแล้วหลายปี ด้วยอัตราเงินเฟ้อและทุกอย่างเปลี่ยนไปจึงทำให้ค่าจ้างที่คน 1 คน จะสามารถเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้อีก 2 คน จะต้องอยู่ที่ 600-700 บาท เป็นการเปรียบเทียบว่าปัจจุบันต้องอัตรานี้ถึงจะอยู่ได้ เป็นเพียงตัวเลขตามการคำนวณ เป็นสูตรคิด จะได้แค่ไหนก็ต้องมาคุยกันในเวทีที่หลากหลายครอบคลุม ไม่ใช่แค่ไตรภาคี เพราะสุดท้ายลูกจ้างก็แพ้เสียงรัฐกับนายจ้าง ขณะนี้ คสรท.ได้ทำแบบสำรวจค่าจ้าง ค่าครองชีพใน 77 จังหวัด 8 พันชุด มีส่งข้อมูลกลับมากว่า 20 จังหวัด ช่วงปลายเดือน ต.ค. จะแถลงผลการสำรวจ เพื่อสะท้อนความเป็นจริง