รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด เชื่อคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่น่าจะขอลี้ภัยในต่างประเทศได้ เหตุเจ้าตัวผ่านการพิจารณาคดีมาโดยตลอด แล้วก็ไม่รู้ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ฟันธงไม่ไปอังกฤษ เพราะเสี่ยงถูกล็อกตัว
วันที่ 27 ส.ค. นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด กล่าวถึงเรื่อง การขอลี้ภัยไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขอลี้ภัยไปประเทศอังกฤษว่า ไม่น่าจะสามารถกระทำได้ เนื่องจากมองว่ายังไม่มีเหตุที่จะลี้ภัย ซึ่งในต่างประเทศจะไม่มีการมองในเรื่องของการหนีคำพิพากษาของศาลเป็นเรื่องลี้ภัย ต่างจากกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ถือโอกาสหลบหนีออกนอกประเทศ เเละขอลี้ภัยในระหว่างที่กำลังมีปัญหาบ้านเมืองไม่ปกติจากการรัฐประหาร ถึงเเม้จะมีการไต่สวนพยานในศาลไปบ้างเเล้ว เเต่ยังไม่จบกระบวนการ เเต่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต่างกันเเละผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมากว่า 3 ปีเเล้ว
"ของคุณทักษิณจะเป็นคนละเเบบกัน ตอนนั้นของคุณทักษิณไม่ต้องไปศาลก็ได้ เเละยังสู้ไม่จบกระบวนการเท่าไหร่ เเต่คุณยิ่งลักษณ์ไปศาลมาตลอด" นายปรเมศวร์ ยังอธิบายเพิ่มเติมต่อว่า จะเห็นได้ว่ากรณีของคุณยิ่งลักษณ์ จะไม่เหมือนรายอื่นๆ เช่น กรณีของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ที่ยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองต่อรัฐบาลออสเตรเลีย ที่มีเหตุถูกคุกคามเเล้วจึงหนีไปเเล้วมีสำนวนไปเเสดง เเต่เคสของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยังไม่รู้ว่าศาลตัดสินอย่างไร เเล้วก็ผ่านการพิจารณาคดีมาโดยตลอด
ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น มีมูลเหตุมาจากนโยบายทางการเมือง เหตุใดถึงไม่น่าจะลี้ภัยได้ นายปรเมศวร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นคดีไปเเล้ว เเละ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ต่อสู้มาตลอดจนถึงเเถลงการปิดคดีจนจบเเล้ว เเละกระบวนการอยู่ในชั้นศาลที่มองว่าเป็นธรรมเเล้ว จึงไม่น่าที่จะยื่นขอลี้ภัยได้ เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ คงจะใช้วิธีการเลือกที่จะไปประเทศที่ไม่มีการขอผู้ร้ายข้ามเเดน เช่น ดูไบ มอนเตเนโกร
...
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างช่วงที่เดินทางไปยังประเทศที่ไม่มีการขอผู้ร้ายข้ามเเดน เเต่จะต้องผ่านประเทศที่เราสามารถขอผู้ร้ายข้ามเเดนได้ ตรงนี้จะสามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่ นายปรเมศวร์ กล่าวว่า เชื่อว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปจะ ไม่ได้พำนักอยู่นาน ถึงเเม้จะไปในประเทศที่เรามีสนธิสัญญา เราไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องได้ทัน อย่างนายทักษิณเอง ก็จะอยู่ประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามเเดนเป็นหลัก เวลาจะเดินทางไปญี่ปุ่น หรืออังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีสนธิสัญญา จะเป็นการลักษณะโฉบไป คือ ไปเเล้วกลับ จะต่างจาก นายราเกซ สักเสนา ที่ไปพำนักอยู่ในเเคนาดา ไม่ขยับหนี จึงถูกล็อกตัว เเต่เชื่อว่ากรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกไม่นานคงถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง
เมื่อถามว่า จากนี้ไปเราสามารถที่จะทำเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามเเดนได้หรือไม่ นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งกรณีนี้จะต่างกันกับการทำเรื่องขอส่งผู้ร้ายมาดำเนินคดี ซึ่งจะง่ายกว่า เพราะส่งหมายจับของศาลพร้อมหลักฐานไปประกอบก็สามารถทำได้ เเต่กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พอมาอยู่ในกระบวนการของศาล เราจะเอาตรงไหนไปยื่นในคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดน เนื่องจากเราจะต้องรออ่านคำพิพากษาก่อนถ้าศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย เราก็เอาคำพิพากษาไปยื่นประกอบคำร้อง จึงจะมีเหตุที่เอาตัวมาลงโทษได้ เราก็ต้องรอศาลพิพากษาในตอนนี้ เฉพาะหมายจับของศาลกรณีที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาอย่างเดียว ตนมองว่ายังไม่เพียงพอ ส่วนปัญหาอีกปัญหาหนึ่งคือ เราก็ยังไม่ทราบถิ่นที่อยู่ของจำเลยซึ่งยังไม่มีข้อยืนยันมา คล้ายกับกรณีของ นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ที่คาดว่าจะใช้วิธีการเดียวกับนายทักษิณคือ ไม่รู้พำนักอยู่ที่ไหนเป็นเวลานาน ซึ่งเเม้จะเเปลคำร้องเสร็จเเล้ว ก็ไม่สามารถส่งได้ เพราะไม่รู้ที่พำนัก
"เคสของยิ่งลักษณ์ถึงเเปลคำร้องเสร็จ ก็เเค่ข้อหาหลบหนีการไปฟังผลคำพิพากษา จึงยังไม่ใช่เรื่องที่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามเเดน ใครเขาก็ไม่ส่งให้ ต้องรอผลคำพิพากษาก่อน อย่างเณรคำที่เราเอาตัวมาได้ เพราะมีข้อหาที่จะดำเนินคดี ไม่ใช่หลบหนีการควบคุม เจ้าหน้าที่มีเนื้อหาคดีอยู่"
เมื่อถามว่า หากวันที่ 27 กันยายน ที่เป็นการอ่านคำพิพากษาลับหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เเล้วศาลยกฟ้อง ตัวจำเลยหากกลับมายังจะถูกคุมขังหรือไม่ นายปรเมศวร์ กล่าวว่า หากยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย่อมสามารถเดินทางกลับมาได้โดยไม่ต้องถูกคุมขัง หมายจับที่ให้จับตัวมาฟังคำพิพากษาก็จะยกเลิก เเต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่า หากยกฟ้องเเล้วอัยการยื่นอุทธรณ์ ก็เป็นไปได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่กลับมา เพราะกลับมาก็จะต้องดูว่า ศาลยกเลิกหมายจับหรือไม่ เพราะยังมีกระบวนการของการขังระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถทำได้ เพราะขณะนี้ไม่มีตัว เเต่ถ้าตัวกลับมาเเล้ว ศาลก็อาจจะออกหมายเรียกมารับทราบเรื่องการอุทธรณ์เเละมาควบคุมตัวได้
"ปกติคดีอาญา ถ้ายกฟ้องเเล้วศาลให้ขังระหว่างอุทธรณ์จำเลยต้องประกันตัวไป เเต่ถ้ายกฟ้องเเล้วไม่มีตัว ศาลก็จำคุกระหว่างอุทธรณ์ไม่ได้ ซึ่งตัวจำเลยก็อาจกลับเข้ามา เเต่ถ้ากลับเข้ามา ศาลก็อาจจะไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งเดิม เพราะตัวยังอยู่ในอำนาจศาล เเต่คิดว่าเขาคงไม่มา คงต้องดูก่อนว่าอัยการจะอุทธรณ์ไหม ถ้าอุทธรณ์คงไปเลยไม่กลับมา เเต่ถ้าไม่อุทธรณ์คงจะกลับมา"
เมื่อถามต่ออีกว่า หากยกฟ้องเเล้วไม่กลับมา เกิดอัยการอุทธรณ์ สิทธิในการอุทธรณ์คดีฝ่ายจำเลยจะถูกตัดสิทธิตามกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญที่ระบุต้องมีตัวจำเลย หรือไม่ รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี กล่าวว่า ตาม ป.วิอาญา ที่มีการเเก้ไขใหม่ว่า ถ้าตัวจำเลยจะยื่นอุทธรณ์จะต้องมาปรากฏตัวต่อศาล เเต่ไม่ได้เขียนในกรณีที่โจทก์เป็นฝ่ายยื่นอุทธรณ์ เเล้วห้ามมิให้จำเลยยื่นเเก้อุทธรณ์โจทก์ได้ กฎหมายเขียนเเต่เพียงว่า หากจำเลยยื่นอุทธรณ์ต้องมาเเสดงตัว หากผลออกมายกฟ้อง.
...