เพราะแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี ได้มุ่งเน้นการเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusive Transport) โดยยกระดับการขนส่งให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม (Universal Design/Transport For all) ทั้งกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก
“รายงานวันจันทร์ ” วันนี้ คุณ วิจิตร นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สนข. จะมาชี้แจงรายละเอียดเรื่องนี้ให้ทราบ
ถาม-จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสาธารณะได้จริง
วิจิตร-กระทรวงคมนาคมมอบให้ สนข.ศึกษาการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ ด้านยานพาหนะ 6 ประเภท ได้แก่ รถโดยสาร รถยนต์สาธารณะ รถไฟ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร และอากาศยานขนส่งภายนอก และภายในอาคาร รวมถึงชานชาลา เช่น กำหนดความกว้าง ความยาวของประตู ราวจับ ทางลาด ป้ายต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเภทจะแตกต่างกันไป มีทั้งมาตรฐานบังคับตามกฎหมาย และมาตรฐานส่งเสริมอื่นๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น คาดว่าการออกแบบจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2560 จากนั้นจะเสนอกระทรวง และ ครม.เห็นชอบเพื่อประกาศใช้ต่อไป
...
ถาม-แนวทางการปฏิบัติต้องทำอย่างไรบ้าง
วิจิตร-นอกจากออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว สนข.จัดทำหลักสูตรการอบรมให้ความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้อย่างถูกต้องและปลอดภัย แบ่งเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรการอบรมความรู้ด้านการออกแบบ ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ 2.หลักสูตรการอบรมด้านทักษะการให้บริการแก่คนพิการและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการภาคการขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย สนข.ได้เชิญตัวแทนบุคลากรหน่วยงานภาคการขนส่ง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโดยตรง เข้าร่วมการฝึกอบรมรุ่นที่ 1 เพื่อประเมินผลการเรียนรู้
ถาม-ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการให้บริการแก่คนพิการและผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง
วิจิตร-ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆให้ความร่วมมือในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ มีทั้งได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้การขอรับบริการยังไม่สะดวกและปลอดภัยเท่าที่ควร จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น ที่จอดรถกว้าง 2.70 เมตร จะต้องกำหนดพื้นที่ด้านข้างอีก 1.20 เมตร เพื่อให้การขึ้นลงได้สะดวก ทางลาดยาวไม่เกิน 12 เมตร หากเกินต้องมีชานพักกว้าง 90-150 ซม. ความสูงของป้ายบอกทางห้ามต่ำกว่า 2 เมตร ป้องกันคนพิการเดินชน เป็นต้น ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรจึงมีความสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ระบบขนส่งที่เท่าเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.