นับเป็นเรื่องชวนปวดหัว เมื่อมีข้อมูลจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงเลขสายรถเมล์ใหม่ในเส้นทางปฏิรูป 269 เส้นทาง โดยมีภาษาอังกฤษผสม ทำให้ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างรู้สึกกังวลและวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงโครงการนำร่องสำหรับรองรับอนาคตในอีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้าที่รถเมล์จะต้องรองรับ และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ รวมถึงรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย ตามคำชี้แจงของอธิบดีกรมการขนส่งทางบก
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลไทยรัฐ แหล่งรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวของ "รถเมล์ไทย" ไว้ ตั้งแต่อดีต และวันนี้เราจะพาทุกท่านนั่งไทม์แมชชีนย้อนดูขนส่งมวลชนในอดีตกัน...
สำหรับกิจการรถเมล์ในกรุงเทพมหานครได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 โดย นายเลิศ เศรษฐบุตร (พระยาภักดีนรเศรษฐ) เป็นผู้ริเริ่ม โดยได้รับทุนอุปการะจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่คือ สภาพรถเมล์ในสมัยนั้นใช้ม้าลากจูงรถ สุดแท้แต่ผู้โดยสารจะจ้างวาน อัตราค่าโดยสารคิดเป็นชั่วโมง รถเทียมม้าเดี่ยวคิดชั่วโมงละ 75 สตางค์ รถเทียมม้าคู่ชั่วโมงละ 1 บาท เทียบได้กับแท็กซี่ในปัจจุบัน
2451 รถเมล์รุ่นแรก ชาวบ้านติดปากเรียก "รถเมล์ขาว"
ในสมัยนั้นมีเจ้านายสั่งรถฝรั่งมาใช้กันบ้างแล้ว นายเลิศจึงสั่งรถยนต์จากต่างประเทศมาให้สามัญชนนั่งกันบ้าง นับเป็นครั้งแรกที่เมืองไทยมีรถยนต์รับจ้างให้เช่า ซึ่งอัตราเช่าในตอนนั้นคิดชั่วโมงละ 5 บาท ถ้าเป็นรถสภาพดีก็คิดชั่วโมงละ 8 บาท เมื่อกิจการรถเช่าเจริญขึ้น ประกอบกับ กรุงเทพมหานครมีการขยายเส้นทางการสัญจรออกไปอย่างกว้างขวาง พระยาภักดีนรเศรษฐจึงสั่งรถยนต์ฟอร์ดเข้ามา และเปิดบริการรถเมล์ประจำทางขึ้นเป็นบริษัทแรกของประเทศ ในราว พ.ศ. 2451 รถเมล์ของนายเลิศทาสีขาว ผู้คนจึงเรียกติดปากว่า “รถเมล์ขาว” ซึ่งสายแรกวิ่งบนเส้นทางจากสะพานยศเส จากสี่พระยาถึงสีลม และจากสีลมถึงประตูน้ำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 จึงได้มีรถเมล์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรเข้ามาวิ่งแทนม้า
...
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา รถเมล์มีวิ่งในกรุงเทพฯ มากขึ้น เพราะผู้คนก็มากขึ้น ธุรกิจก็ทวีขึ้นมากในกรุง มีรถเมล์หลายบริษัทวิ่งเพิ่มตามถนนสายต่างๆ ดังนี้
- รถเมล์ขาว วิ่งระหว่าง บางลำพู-ประตูน้ำ (ภายหลังเพิ่มขึ้นอีก 6 สาย เช่น ปากคลองตลาด-พระโขนง, บางลำพูต่อถึงมักกะสัน, วัดโพธิ์-บางนา) ฯลฯ
- รถเมล์เหลือง วิ่ง สะพานหัน-สะพานแดง
- รถเมล์ศรีนคร วิ่ง วังบูรพา-บางซื่อ (ภายหลังเพิ่มอีก 4 สาย เช่น ศรีย่าน-ราชประสงค์, สะพานแดง-วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู ฯลฯ เป็นต้น)
- รถเมล์เขียว วิ่ง สะพานพุทธ-บางซื่อ, เสาชิงช้า-บางกอกน้อย
- รถเมล์นครธน วิ่ง บางลำพู-วงเวียนใหญ่-ดาวคะนอง
- รถเมล์พีระ วิ่ง บางกระบือ-สุรวงศ์
- รถเมล์แดง วิ่ง เทเวศร์-หัวลำโพง
- รถเมล์บุญผ่อง วิ่ง บางลำพู-สีลม
- รถเมล์ไทยประดิษฐ์ วิ่ง ตลาดพลู-เสาชิงช้า
- รถเมล์ชวนะฟาร์ม วิ่ง สะพานมอญ-เฉลิมกรุง-สนามเป้า
- รถเมล์ไทยเดินรถ วิ่ง หลักเมือง-ถนนตก (ต่อมาสายนี้ยุบเลิกโดยให้องค์การ รสพ.มาดำเนินการแทน)
- รถเมล์ รสพ. วิ่ง ตลาดพลู-คลองเตย
- รถเมล์ศิริมิตร วิ่ง วงเวียน 22 กรกฎา-สะพานพระราม 6
ฯลฯ
ราวๆ พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง รถบรรทุกทหารเลิกใช้ก็ประมูลให้เอกชนรับไปทำรถเมล์ และทหารสหประชาชาติหมดภารกิจในเมืองไทย ก็ขายทอดตลาดรถจีเอ็มซีให้รถเมล์ไปเปลี่ยนตัวถัง สร้างใช้โดยสารต่อไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ทางราชการได้กำหนดกฎหมายสัมปทานรถเมล์ออกมาใช้ มีบริษัทต่างๆ ได้สัมปทานเดินรถทั่วกรุงเทพฯ ถึง 24 บริษัท จำนวนสายการเดินรถมีถึง 46 สาย กำหนดสายติดหน้ารถไว้ เช่น หลักเมือง-ถนนตก เป็นสายที่ 1 ก็มีเบอร์ 1 ติดหน้ารถ และข้างรถให้เห็นและจำง่าย
พ.ศ. 2502 ทางราชการประกาศนโยบายให้งดการเดินรถรางไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพฯ แต่ค่อยเป็นค่อยไป ยุบทีละสาย 2 สายไปเรื่อยๆ และให้งดหมดทุกสายเด็ดขาดใน พ.ศ. 2507 เพราะเหตุผลว่ารถมากเต็มทุกถนน รถรางวิ่งช้าเป็นการกีดขวางการจราจรรถอื่นๆ ด้วย ประกอบกับให้เลิกรถ 3 ล้อที่ใช้แรงคนถีบขับเคลื่อนพร้อมกันด้วย ทำให้รถพาหนะที่จะรองรับธุรกิจและบริการประชาชนไม่เพียงพอ รถเมล์ประจำทางจึงเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น มีปริมาณรถวิ่งถึง 105 สายในกรุงเทพฯ และถึงปริมณฑลใกล้เคียงกรุงเทพฯ เช่น ปากน้ำสมุทรปราการ สามพราน นนทบุรี และปทุมธานี
...
ตั้งบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ดูแลกิจการขนส่งสาธารณะ รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในกิจการขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับประโยชน์สุขของประชาชนโดยตรง ประกอบกับการให้บริการรถเมล์ในระยะนั้น การให้บริการมักจะเกิดความสับสน มีการเดินรถทับเส้นทางแก่งแย่งผู้โดยสาร เดินรถอย่างเสรี และการให้บริการที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาความคับคั่งของการจราจร ผลเสียทั้งหมดตกอยู่กับผู้ใช้บริการทั้งสิ้น ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันในปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา หลายบริษัทมีฐานะทรุดลงจนไม่สามารถที่จะรักษาระดับการให้บริการที่ดีแก่ประชาชนได้ จึงเป็นที่มาของการรวมกิจการรถโดยสารจากบริษัทต่างๆ ให้เหลือเพียงหน่วยงานเดียวเป็นรัฐวิสาหกิจในเดือนกันยายน พ.ศ. 2518 สมัยรัฐบาล ซึ่งมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เรียกว่า “บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด” เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2518
จากบริษัทมหานครขนส่งฯ เป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
เมื่อบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ดำเนินกิจการรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงแต่ผู้เดียวได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เกิดปัญหาขาดเงินทุน ปัญหาข้อกฎหมายในการจัดตั้งบริษัทฯ และปัญหาการเรียกร้องในด้านผลประโยชน์ต่างๆ ของพนักงาน รัฐบาลจึงได้ทบทวนนโยบายใหม่ ในที่สุดได้ตัดสินใจเลิกบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด และจัดดำเนินการใหม่ในรูปของรัฐวิสาหกิจ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็น “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ” เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา และถือได้ว่าวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ตลอดมา
...
ตำนานรถเมล์ครีม-น้ำเงิน
เป็นรถเมล์ ขสมก.ยุคแรก ขนาด 10 เมตร เป็นการเช่าซื้อจากบริษัทเอกชนมาเพิ่มเติมรถเมล์ที่ได้รับโอนกิจการจากเอกชนมาในปี พ.ศ. 2519 มีประตูด้านข้างรถเมล์อยู่หน้ารถและหลังรถ นับเป็นรถเมล์รุ่นใหม่ล่าสุดในสมัยนั้น
รถปรับอากาศครีม-น้ำเงิน
ปี พ.ศ. 2525 ขสมก.นำรถโดยสารปรับอากาศเข้ามาบริการประชาชน ด้วยเล็งเห็นความเจริญของบ้านเมือง ประกอบกับเมืองไทยเป็นเมืองร้อน รวมถึงสภาพการจราจรติดขัด รถปรับอากาศชุดแรกยี่ห้อวอลโว่ มีประตูทางขึ้น-ลงประตูเดียวกัน อยู่ด้านข้างติดกับหน้ารถ โดย ขสมก.ได้จัดรถโดยสารปรับอากาศเข้ามาบริการประชาชนเพิ่มมากขึ้น ได้มีการพัฒนาทั้งภายในและภายนอกตัวรถ เช่น ประตูทางขึ้น-ลง ถูกดัดแปลงให้อยู่ตรงกลางและกว้างขึ้น อำนวยความสะดวกในการขึ้น-ลงของผู้โดยสาร เบาะที่นั่งพนักพิงออกแบบให้นั่งสบาย รวมถึงการนำเกียร์แบบอัตโนมัติช่วยผ่อนแรงให้กับพนักงานขับรถด้วย
...
รถเมล์ครีม-แดง
ปี พ.ศ.2534 รถเมล์ขนาด 12 เมตร สีครีมแดง ได้เข้ามาบริการประชาชน มีประตูขึ้น-ลงดัดแปลงมาอยู่ตรงกลางประตูเดียว มีความกว้างขึ้นลงได้สะดวก ใช้ระบบเปิด-ปิดประตูอัตโนมัติ เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารและป้องกันการห้อยโหน บนหลังคามีช่องลมระบายอากาศ พร้อมเพิ่มการติดตั้งพัดลมในรถ
ก้าวสู่ยุครักษาสภาพแวดล้อม รถปรับอากาศใช้ก๊าซ NGV
ปี พ.ศ. 2536 ขสมก. นำรถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติอัด NGV เป็นเชื้อเพลงจำนวน 82 คัน ลดปัญหามลพิษทางอากาศเพราะเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้สมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดเขม่าควันดำ ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการรถเมล์เมืองไทย
รถพ่วงโดยสารปรับอากาศ
ปี พ.ศ.2537 รถโดยสารพ่วงปรับอากาศความยาว 18 เมตร จำนวน 100 คัน ได้เข้ามาบริการประชาชน เพื่อรับกับสภาพการจราจรที่ติดขัด รถรุ่นนี้ตัวรถหน้า 2 ประตู ที่ตัวรถส่วนพ่วงด้านท้าย 1 ประตู จุผู้โดยสารได้ 160 คน มีที่นั่ง 65 ที่นั่ง
รถเมล์ธรรมดาฟ้า-ขาว
ปี พ.ศ. 2541 ขสมก. ได้เช่ารถเมล์ธรรมดาขาว-น้ำเงิน จำนวน 80 คัน นำมาบริการผู้โดยสาร โครงการแรกเริ่มติดเครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ใช้เครื่องยนต์มาตรฐานไอเสียระดับ 2 (ยูโร 1) ต่อมาได้เลิกใช้เครื่องเก็บเงินค่าโดยสารอัตโนมัติ เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องของการหยอดเหรียญ 5 บาท
รถเมล์ยูโรทูสีส้ม
ในปี พ.ศ. 2541 ขสมก. ได้นำรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 797 คัน เป็นการนำมาทดแทนรถโดยสารรุ่นเก่าสีครีม-แดง ที่ปลดระวางออกไปจำนวน 900 คัน เป็นรถเครื่องยนต์มาตรฐานไอเสียระดับ 3 (ยูโร 2)
รถเมล์ไทยมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ และมีการปรับเปลี่ยนเลขสายตามยุคตามสมัย จนกระทั่งปัจจุบัน ขสมก. การจัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่งรับส่งประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ในเส้นทางต่างๆ รวม 457 เส้นทาง มีจำนวนรถทั้งสิ้น 14,336 คัน (ณ 31 เดือนพฤษภาคม 2560) แยกเป็นรถ ขสมก. รถธรรมดา 1,543 คัน รถปรับอากาศ 1,011 คัน รถ PBC(รถเช่า) 117 คัน และมีรถของบริษัทเอกชนที่ร่วมวิ่งบริการกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รถร่วมบริการ 3,478 คัน รถมินิบัส 966 คัน รถเล็กในซอย 2,139 คัน รถตู้โดยสารปรับอากาศ 4,946 คัน และรถตู้ CNG เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 136 คัน
ปัจจุบัน แม้จะมีรถเมล์มากมาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้บริการประชาชน บ้าง...ต้องรอนานเป็นชั่วโมง เพราะรถ "ขาดระยะ" รถติดอยู่บนถนนมาไม่ถึงเสียที จนมีดราม่าเกิดขึ้นมาแล้ว บ้าง...ประสบปัญหาการให้บริการที่ไม่สุภาพ ขับรถแย่ โบกไม่จอด ซึ่งคุณรู้ไหมว่าบางครั้งเรายืนรอมานับชั่วโมงแล้ว แต่กลับต้องยืนมองรถที่เราจะกลับบ้านผ่านไป สุดท้าย อยากให้ผู้ประกอบการทั้ง ขสมก. และรถร่วมฯ เล็งเห็นถึงประโยชน์ของผู้โดยสารรถเมล์เป็นสำคัญด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์รายงาน