ก.แรงงาน เล็งปลดล็อก 39 อาชีพสงวนคนไทย ไฟเขียวให้ต่างด้าวทำได้ อ้างกฎหมายเก่าสังคมเปลี่ยนต้องเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับบางอาชีพคนไทยเมิน ยืนยันความพร้อมเปิด 100 ศูนย์รับแจ้งใช้ต่างด้าวผิดกฎหมาย เริ่ม 24 ก.ค. พร้อมกันทั่วประเทศ คาด กทม.ต่างด้าวใต้ดินโผล่ 3 แสน ทั่วประเทศ 1.5 ล้าน...

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.60 ที่กระทรวงแรงงาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงการเปิดศูนย์รับแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. ว่า ผวจ.แต่ละจังหวัด จะเป็นคนกำหนดพื้นที่ตั้งศูนย์รับแจ้งฯ ส่วน กรุงเทพฯ มี 11 ศูนย์ จะเริ่มเปิดให้บริการในวันจันทร์ที่ 24 ก.ค. เป็นวันแรก ได้พยายามกระจายศูนย์ไปทั่วทุกมุม โดยเน้นสถานที่มีพื้นที่จอดรถได้เยอะอยู่ใกล้บ้าน เน้นให้นายจ้างไปยื่นเอกสารด้วยตัวเอง ไม่ต้องพาลูกจ้างมา แต่หากไม่สะดวกจะให้คนอื่นไปแทนก็ได้ โดยไม่ต้องมอบอำนาจ หรือถ้าจะยื่นเอกสารผ่านในอินเทอร์เน็ตก็ทำได้ โดยยื่นผ่าน www.doe.go.th ไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์รับแจ้งฯ เอกสารที่ต้องใช้มีใบคำขอใช้แรงงานต่างด้าว ดาวน์โหลดได้ในอินเทอร์เน็ต รูปถ่ายแรงงานต่างด้าว ขนาด 2 นิ้ว 3 รูป สำเนาบัตรประชาชนนายจ้าง ถ้าเป็นนิติบุคคลก็นำสำเนาการจดทะเบียนไปด้วย เจ้าหน้าที่จะออกใบรับที่มีรหัสเพื่อนัดหมายนายจ้างกับลูกจ้างมาสัมภาษณ์

นายวรานนท์ กล่าวว่า มั่นใจว่า 11 ศูนย์ในกรุงเทพฯ จะสามารถดำเนินการได้เพียงพอกับจำนวนแรงงานต่างด้าว ที่ตั้งเป้าไว้ 3 แสนคน ใน 1 ศูนย์จะสามารถดำเนินการได้วันละ 2 พันคน ส่วนในทุกจังหวัดทั่วประเทศตั้งเป้าไว้ 1.5 ล้านคน แต่ก็ยังไม่รู้จำนวนว่าจะมากันมากแค่ไหน หลังจากปิดยื่นเอกสารใน 15 วันแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบคัดกรอกความสัมพันธ์ระหว่างนายและลูกจ้าง ก่อนจะส่งไปให้ทำการพิสูจน์สัญชาติ โดยเมียนมา ตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในไทย 6 ศูนย์ ใน 5 จังหวัด กัมพูชาจะมาเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติช่วงต้นเดือน ส.ค. โดยจะส่งเข้ามา 20 ทีม สามารถพิสูจน์ได้ทีมละ 150 คน เน้นกลุ่มที่มีบัตรสีชมพูไปก่อน แต่ก็พร้อมที่จะรับกลุ่มใหม่ที่จะเปิดให้รายงานตัว ไปตรวจสัญชาติด้วย แห่งแรกจะเปิดใน จ.ระยอง เพราะกัมพูชาอยู่ในแรงงานประมงเยอะ สำหรับลาว ยังต้องกลับประเทศต้นทางไปดำเนินการเอกสารให้เรียบร้อยก่อนกลับเข้ามา หลังปิดศูนย์รับแจ้งฯ ในวันที่ 7 ส.ค. จะมีการแจ้งยอดให้ประเทศต้นทางทราบจำนวนที่แน่นอน

...

นายวรานนท์ กล่าวถึงกรณีแรงงานเมียนมานับ 100 คน ถูกนายหน้าฝั่งเมียนมาหลอกทำเอ็มโอยู เสียเงิน 5 แสนจ๊าด เพื่อมาทำงานในประเทศไทย แต่เข้ามาแล้วไม่ได้งานทำว่า ได้คุยกับอธิบดีกรมแรงงานของเมียนมาแล้ว ขอยืนยันว่าความผิดนี้ไม่ได้รับการยกเว้นตามคำสั่ง คสช. ที่ให้ชะลอโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เชื่อว่ามีขบวนการแอบอ้างเป็นนายหน้าเถื่อน นำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จึงขอเตือนว่าการทำผิดกฎหมายด้วยการแอบอ้างนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย จะมีโทษแรงมาก โทษจำคุก 3 - 6 ปี ปรับ 6 แสนบาท - 1 ล้านบาท ต่อแรงงาน 1 คน ในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้จัดการอย่างเฉียบขาด

"ขณะนี้กำลังมีการพิจารณาอาชีพสงวนสำหรับคนไทย 39 อาชีพ ที่ห้ามต่างด้าวทำ ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ใช้มานานแล้ว ปัจจุบันบริบทสังคมเปลี่ยนไป นโยบายจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของการลงทุน บางอาชีพที่เคยห้ามอาจผ่อนคลายให้ทำได้ เพื่อให้นักลงทุนนักเทคนิควิชาการต่างชาติเข้ามาทำงานสะดวกขึ้น อาจจะมีงานบางอย่างที่คนไทยไม่ทำ จะผ่อนคลายให้แรงงานต่างด้าวทำได้ เช่น งานก่อสร้างมีปัญหาเข้ามามาก เพราะอนุญาตให้ต่างด้าวทำได้แค่งานกรรมกร แต่งานก่ออิฐห้ามทำ ปัจจุบันคนไทยไม่ค่อยทำก่ออิฐแล้ว ก็อาจต้องผ่อนคลาย แต่ยังบอกไม่ได้ว่ามีอาชีพอะไรบ้าง จะมีการเชิญกลุ่มผู้ประกอบการมาพูดคุยคู่ขนานไปกับการยกร่างกฎกระทรวง" นายวรานนท์ กล่าว.