หมอเด็ก เตือน พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกนั่งท่าแบะขา หรือท่า W เสี่ยงข้อสะโพกบิดเบี้ยว กล้ามเนื้อหลังไม่ออกแรง ทรงตัวช้า...

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด อธิบายถึงการนั่งท่าดับเบิลยู (W Sitting) ว่า การนั่งโดยบั้นท้ายอยู่ตรงกลางระหว่างขาทั้งสองข้างที่งอพับหันฝ่าเท้าออกไปทางด้านข้าง คล้ายตัวอักษร W โดยเป็นท่าต่อเนื่องจากการที่เด็กคลานไปคลานมาแล้วต้องการหยุดเพื่อนั่งเล่น เด็กจะทิ้งน้ำหนักตัวมาที่บั้นท้าย โดยแยกต้นขาและหัวเข่าจากกัน การนั่งแบบนี้จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นคง ไม่เอนล้มง่าย

ทั้งนี้ คำแนะนำจากแพทย์ทางด้านกระดูกได้ศึกษาและแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กนั่งท่า W เนื่องจากไม่มีผลดีต่อตัวเด็กอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหลังไม่ได้ออกแรงเพื่อการทรงตัวนั่ง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังไม่ค่อยแข็งแรง อาจทำให้พัฒนาการด้านการทรงตัวช้ากว่าเด็กคนอื่น ขณะที่ หากนั่งท่าอื่นเด็กจะหัดพยุงตัวให้ตั้งขึ้นได้ หรือแม้แต่การนั่งพับเพียบก็จะต้องใช้หลังพยุงตัวเหมือนกัน

...


“การที่เด็กนั่งท่า W จะทำให้หลังไม่ได้ทำงาน แต่จะไปโหลดที่ข้อสะโพก ทำให้ข้อสะโพกอยู่ในตำแหน่งที่ถูกบิดออกจากตำแหน่งเบ้า และเกิดอันตรายต่อข้อสะโพกในระยะยาว ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดข้อหรือข้อสะโพกเคลื่อน และยังทำให้กล้ามเนื้อขาบางมัดมีการหดรั้งผิดรูปไป รวมไปถึงข้อเข่าซึ่งจะบิดเบี้ยวไปด้วย

นอกจากนี้ การที่เด็กจะค่อยๆ มีพัฒนาการจากการนอนราบขึ้นมาลุกนั่ง กล้ามเนื้อหลังของเด็กจะไม่ได้พัฒนา จึงเป็นที่มาที่ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้เด็กนั่งท่า W” กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด อธิบาย

สำหรับท่านั่งที่เหมาะสมของเด็ก ได้แก่ นั่งเหยียดขาตรงไปด้านหน้า นั่งห้อยขา นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ โดยให้สลับซ้ายขวาให้สมดุลกัน ซึ่งหากพบว่าเด็กนั่งท่า W พ่อแม่ต้องคอยเตือนหรือจับเปลี่ยนท่านั่งให้เป็นท่าอื่นแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวยังได้ซักถามต่อว่า ช่วงวัยใดที่ไม่ควรจะให้เด็กนั่งท่า W โดยเด็ดขาด? พญ.สุธีรา ตอบว่า “ต้องไม่ให้นั่งเลยค่ะ แม้กระทั่งเมื่อเด็กโตขึ้นก็ไม่ควรจะให้นั่งท่านี้ เพราะไม่ส่งผลดีต่อร่างกายของเด็กอย่างยิ่ง”