ภาคเกษตรไทยจะปรับตัวก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ได้หรือไม่ แต่วันนี้คงต้องยอมรับการพึ่งพาเครื่องจักรกลทางการเกษตร เราถึงจะสู้เขาได้ เพราะลดต้นทุนได้จริง โดยเฉพาะเรื่องแรงงานที่นับวันหาได้ยากและแพง

แต่จะให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกลได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากขาดเงินทุน...แต่กระนั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินจะทำได้ ถ้าเกษตรกรร่วมแรงร่วมใจเหมือนอย่าง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง จ.ศรีสะเกษ ที่รู้จักกันในนาม กลุ่มเกษตรทิพย์...สร้างตัวด้วยลำแข้งของตัวเอง จนหน่วยราชการต้องแห่ขอปักป้ายมีส่วนอวดผลงาน

“กลุ่มเราก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ 300 กว่าไร่ เพราะต้องการลดต้นทุน เนื่องจากตอนนั้นมีโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้ปุ๋ย ยาแพงมาก ทำให้ต้นทุน การผลิตสูงถึงไร่ละ 4,700-4,800 บาท เริ่มแรกเราลดต้นทุนด้วยการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนได้นิดหน่อย แค่ไร่ละ 400 บาท”

ลุงบุญมี สุระโคตร ประธานกลุ่มเกษตรทิพย์ เล่าต่ออีกว่า แม้จะลดต้นทุนได้น้อยนิด แต่ด้วยมีวิธีคิดใหม่ ไม่ขายเป็นข้าวเปลือกแต่เอาข้าวไปสีเป็นข้าวสารขายเอง ทำให้ได้ราคาเพิ่มขึ้น 50%...จากขายเป็นข้าวเปลือกได้ กก.ละ 8-9 บาท แต่พอสีเป็นข้าวสารขายเอง ได้ราคา กก.ละ 12 บาท

...

“เราทำอย่างนี้มาเรื่อยจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอทอปของจังหวัด และบังเอิญปี 2553 ทาง บริษัทสยามคูโบต้า มีโครงการส่งเสริมให้ปลูกถั่วเหลืองหลังนาเพื่อปรับปรุงดิน มาสอนแนะนำให้เรารู้จักเครื่องจักร เลยได้ความคิดเรื่องควบคุมคุณภาพข้าว ไม่ให้มีข้าวพันธุ์อื่นมาปน สมาชิกเลยตัดสินใจร่วมกันลงขัน 2 แสนบาท วางดาวน์ซื้อรถเกี่ยวข้าวมาใช้เป็นครั้งแรก เพราะจ้างรถข้างนอกมักจะมีปัญหาเมล็ดข้าวจากที่อื่นติดมาปนพันธุ์ข้าวของเรา และปีถัดมาได้รับเชิญให้ไปออกร้าน ในงานไทยเฟล็กซ์ ที่เมืองทอง เป็นครั้งแรก มีลูกค้าต่างประเทศสนใจสินค้าของเรา แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีใบรับรองเป็นข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล เลยต้องกลับมาปรับวิธีการผลิตใหม่ให้ได้มาตรฐานสากล เมื่อได้ใบรับรอง ออเดอร์สั่งจากต่างประเทศเริ่มเข้ามา”

กำลังผลิตไม่พอป้อนตลาด ความต้องการใช้แรงงานมีมากขึ้น แต่ค่าแรงพุ่งเป็น 300 บาท จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องจักรกลมากขึ้น... ซื้อเพิ่มรถดำนา รถแทรกเตอร์ รวมทั้งเครื่องอัดฟางข้าวโดยใช้เงินกำไรส่วนหนึ่งจากขายข้าวสารอินทรีย์ส่งออก (ปีที่แล้ว 2,500 ตัน) มาเก็บกันไว้เป็นทุนในการไปซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรกล และผลจากการใช้เครื่องจักรกลทำนาได้ครบ
วงจร ส่งผลให้ กลุ่มเกษตรทิพย์ ที่เคยมีสมาชิกเริ่มแรก 74 คน พื้นที่ทำนา 300 กว่าไร่...13 ปีผ่านไป วันนี้มีสมาชิก 1,258 คน พื้นที่ 20,716 ไร่

จากเคยได้ผลผลิตไร่ละ 400 กก. เพิ่มเป็น 520 กก. จากต้นทุนผลิตไร่ละ 4,300 บาท ลดเหลือ 3,200 บาท

กลุ่มเกษตรทิพย์ปรับตัวรู้จักใช้เครื่องจักรกล ผลผลิตเพิ่ม 30% ลดต้นทุนได้ 25%...ดูเหมือนประสิทธิภาพของชาวนาจะสูงกว่าเป้าหมายโครงการแปลงใหญ่ของภาครัฐนะท่าน.

ชาติชาย ศิริพัฒน์