ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือเรียกกันอย่างทั่วไปว่า "เพศที่สาม" นั้น ในหลายประเทศ เริ่มให้การยอมรับต่อพวกเขาเหล่านี้มากขึ้น เห็นได้จากบทบาทในสังคม เช่น ดารา นักร้อง นักแสดง นักวิชาการ นักการเมือง เป็นต้น ที่ออกมายอมรับต่อหน้าสาธารณชน ว่า พวกเขาคือเพศที่สาม ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ที่สังคมยังให้การยอมรับ และมีสิทธิที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม

อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศกลับไม่เปิดกว้าง และไม่เปิดพื้นที่ให้กับพวกเขา จนนำไปสู่การดูถูกเหยียดหยาม ขับไล่ ไร้ที่ยืนในสังคม เห็นได้จากข่าวในหลายประเทศที่หยิบประเด็นนี้มานำเสนอ

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า สื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสังคมออนไลน์ ตลอดจนบรรดาละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์ เป็นส่วนสำคัญในการเป็นผู้บุกเบิก เสรีภาพ การยอมรับ รวมถึงภาพลักษณ์ของเพศทางเลือก 'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' ขอเปิดประเด็นนี้ เพื่อนำเสนอความเห็นจากหลายมุมมอง เริ่มที่...

ดร.กังวาฬ ฟองแก้ว อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่ตนได้ศึกษาวิจัย แม้ว่าประเทศไทยจะเปิดพื้นที่ให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ การนำเสนอข่าวที่มากขึ้น ซึ่งหากย้อนกลับไปประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว การพูดถึงเพศที่สามมีน้อยมาก มีเพียงบางบริบทในสังคมไทยเท่านั้น แต่ปัจจุบัน พบว่า ถูกพูดถึงมากขึ้นในสื่อ แต่ยังไม่ใช่เชิงคุณภาพ เนื่องจากถูกนำเสนอในบางมิติ ที่สื่อต้องการเท่านั้น

...

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเพศสัมพันธ์ เช่น สายเหลือง ตีฉิ่ง เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาจากคำเรียกนี้ ทำให้นึกถึงการมีเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว”

ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ จึงถูกมองว่า เป็นบุคคลที่ต้อยต่ำกว่าคนทั่วไป จนทำให้รู้สึกด้อยค่า เห็นได้ว่า สื่อสามารถทำร้ายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย

"สื่อนำเสนอเพศที่สามมากขึ้น แต่ความหลากหลายของเนื้อหานั้น น้อย และโดนจำกัดบทบาท เช่น เพศที่สามจะต้องเป็น ดารา ช่างแต่งหน้า เท่านั้น แต่น้อยมากที่ ครู อาจารย์ แพทย์ พยาบาล หรือนักวิชาการ จะมีบทบาทในสื่อพวกนี้ ซึ่งสื่อกลับเลือกนำเสนอแต่ประเด็นความตลก ความบันเทิงอีกด้วย ถึงแม้ว่าประเทศไทยดูเหมือนจะเปิดรับ แต่ภาพที่เห็น เป็นเพียงภาพตามกระแสเท่านั้น ไม่ได้สนับสนุนอย่างจริงจังนัก"

นายเอกลักษณ์ ศรีทอง นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และเป็นเพศที่สาม กล่าวว่า ปัจจุบัน สื่อยังเผยแพร่ภาพรวมของเพศที่ 3 ในแง่ผิดๆ ทั้งการนำเสนอข่าว ละคร ภาพยนตร์ โดยส่วนใหญ่เน้นเพียงแต่ประเด็นการมีเพศสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเห็นจากสื่อในสังคมเรามากเป็นพิเศษ ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เกิดขึ้นกับทุกเพศอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะเพศที่สาม ไม่อยากให้สื่อ นำเสนอแต่เรื่องแบบนี้ ซึ่งมองอย่างไร ก็มีแต่จะส่งผลในด้านลบ อยากให้นำเสนอในด้านอื่นมากกว่า เพราะเราก็มีข้อดี ไม่แพ้หญิงชายแท้

ส่วนตัวมองว่า ปัจจุบัน สังคมไทยหรือแม้แต่สังคมทั่วโลก ต่างเริ่มเปิดกว้างให้กับบุคคลเพศที่สามอย่างเราแล้ว การทำงานทั่วๆ ไป หรือแม้แต่การทำธุรกิจต่างๆ เพศอย่างเราก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งบ้างแล้ว ถึงแม้ว่าบางอาชีพ บางสังคมยังไม่เปิดกว้าง รองรับมากพอ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาใดๆ ตนคิดในแง่บวกทุกครั้ง

"เพราะเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถใช้ความสามารถ สติปัญญา และความคิดสร้างสรรค์ที่มี ทำให้คนในสังคมได้เห็นคุณค่าในความเป็นเราได้"

นางรุ่งนภา จิโรจน์พงศา ข้าราชการบำนาญ (ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ) กล่าวว่า การนำเสนอมุมมองเพศที่สามของสื่อไทย เช่น ข่าว หรือแม้แต่ภาพยนตร์ ละครไทยที่เพศที่สามมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ในมุมครอบครัว สามารถมองได้หลายแบบ เพราะปัจจุบันหลายประเทศ เพศที่สามก็เป็นที่ยอมรับ ประเทศไทยอาจจะ 60 - 70% บุคคลมีชื่อเสียงอย่างดารา นักแสดง ที่เป็นเพศที่สามก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสื่อ

ยกตัวอย่างเช่น ปอย ตรีชฎา ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลตัวอย่างที่วางตัวดี มีมารยาททางสังคมที่ดี เยาวชนสามารถเอาเป็นแบบอย่างได้ สังคมย่อมให้การยอมรับอยู่แล้ว ดังนั้น จึงมีความเห็นว่า การนำเสนอเพศที่สาม ควรจะต้องอยู่ในความพอดี เพราะหากมากไปก็จะดูส่งเสริมโจ่งแจ้ง หรือหากน้อยไปก็จะเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ส่งผลร้ายต่อครอบครัว สื่อ ตลอดจนพวกเขาเองอีกด้วย

"หากลูกมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทางเพศ มองว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรอยู่บนพื้นฐานความพอดี มีการวางตัว และมารยาทที่ดีงาม ก็จะทำให้ไม่มีข้อจำกัดทางสังคมอีกต่อไป"

นี่เป็นเพียงในประเทศไทยของเราเท่านั้น มาดูในด้านประเทศเพื่อนบ้านกันบ้าง ว่าประเทศเหล่านี้ได้เปิดใจยอมรับ ต่อเพศที่สามอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง และประชาชนในประเทศ มีความคิดเห็นอย่างไร

...

เริ่มกันที่ประเทศลาว นางสาวลัดลา บุญทวี ชาวลาว กล่าวว่า ลาวค่อนข้างเหมือนไทย สังคมยอมรับบุคคลเพศที่สาม ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่ได้ปิดกั้น หรือดูถูกบุคคลประเภทนี้แต่อย่างใด สื่อในประเทศลาวก็นำเสนอเรื่องเพศที่สามได้ แต่ในวงการภาพยนตร์ ยังไม่เคยมีบทบาทของเพศที่สามแสดงออกมามากนัก ยังพอมีภาพยนตร์จากประเทศไทยที่มีเพศที่สามเกี่ยวข้อง นำเข้ามาฉายบ้าง

เมื่อกล่าวถึงมุมมองของผู้ใหญ่ประเทศลาว พวกเขามองเรื่องนี้ได้สองแบบ คือ บุคคลที่เป็นเพศที่สามจริงๆ ส่วนอีกแบบ คือ บุคคลที่แสร้งทำ เพียงเพราะต้องการเข้าถึงตัวได้ง่าย เช่น หากเป็นเกย์ ก็จะสามารถเข้าถึงตัวผู้หญิงได้ง่าย หรือถ้าเป็นทอม ก็จะสามารถเข้าถึงตัวผู้ชายได้ง่ายเช่นกัน ในมุมมองส่วนตัว โดยรวมแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่ซีเรียสอะไร เพราะจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ ช่วงเดือนก่อน ยังมีการจัดงานแต่งงานระหว่างผู้ชายด้วยกัน มีผู้ร่วมแสดงความยินดีอย่างล้นหลาม รวมทั้งในสังคมออนไลน์ด้วย

นายยียี ชาวเมียนมา กล่าวว่า ในสมัยก่อน เมียนมา ปิดกั้นและไม่ยอมรับบุคคลเพศที่สามเลย แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มให้การยอมรับมากขึ้น สื่อของพม่ามีการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับเพศที่สามมากขึ้น แต่งงานกันระหว่างผู้ชายด้วยกันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตลอดจนละครหรือภาพยนตร์ของพม่า ก็ยังมีบทบาทของเพศที่สามด้วยเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเลสเบี้ยน มากกว่าเกย์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติไปแล้วเหมือนในประเทศไทย

ในส่วนของกัมพูชานั้น นายเล็ง พิรุณ ผู้สื่อข่าวชาวกัมพูชา กล่าวว่า สื่อในกัมพูชา นำเสนอข่าว ละคร ภาพยนตร์ หรือบทบาทของพวกเขาน้อยมาก แต่สังคมไม่ได้ต่อต้าน เคยเกิดการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันเกิดขึ้น อยู่ร่วมกันได้ เพียงแต่กฎหมายยังไม่ยอมรับ สิทธิต่างๆ ยังไม่มีสำหรับเพศที่สาม

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกลุ่มบนเฟซบุ๊ก เพื่อพูดคุยกันในกลุ่มบุคคลเพศที่สามอีกด้วย และในกัมพูชาก็มีดนดังหลายคนที่ออกมายอมรับว่าเป็นเพศที่สาม แต่ยังไม่มากเท่าที่ควร อาทิ Peypey Dy ดาราไอดอล ชื่อดังของกัมพูชา ก็ออกมายอมรับว่าเป็นเกย์ ซึ่งในขณะนี้ ก็ยังมีผลงานภาพยนตร์หลายเรื่องในกัมพูชาอีกด้วย ส่วนตนก็ยอมรับได้ ไม่แบ่งแยก

...

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า หลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้การยอมรับเพศที่สาม มากขึ้น แตกต่างจากอดีตที่เลือกปิดกั้นทุกทาง แต่ตอนนี้เพศที่สามก็เริ่มมีบทบาทในสังคมมากขึ้นเหมือนคนปกติทั่วไป ผู้คนให้การยอมรับ ไม่ดูถูก และกดขี่อีกต่อไป

นับว่า สื่อเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับความคิดของผู้คนในสังคมให้หันมาเปิดใจยอมรับพวกเขาเหล่านี้มากยิ่งขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกนำเสนอ หากเลือกนำเสนอในด้านที่ดี ก็จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเพศที่สามได้ แต่หากเลือกนำเสนอในด้านลบเพียงด้านเดียว ก็อาจส่งผลกระทบต่อเพศที่สามโดยรวม และอาจนำไปสู่พฤติกรรมความรุนแรงในสังคมได้เช่นกัน

...คงต้องย้อนกลับมาถามว่า "คุณคิดเห็นอย่างไรกับเพศที่สาม ยอมรับจากตัวตนของเขา หรือเพียงแค่ตามกระแสจากสื่อ?".