มหากาพย์ตุ๊กแกไทย โลกออนไลน์กำลังวิพากษ์วิจารณ์ กรณีมีนายหน้าขอรับซื้อตุ๊กแกที่มีความยาวประมาณ 43 เซนติเมตร หรือ 17 นิ้วขึ้นไป ในราคาตัวละ 1-3 ล้าน โดยราคารับซื้อสูงสุดคือ 30 ล้านบาท โดยมีขนาดตัวอยู่ที่ 30 นิ้ว ตามที่เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (ออเดอร์จากมาเลย์! หนุ่มรับซื้อตุ๊กแกเงินล้าน ที่ลาว 10 ปีเคยเจอตัวเดียว , มีด้วยหรือ? รับซื้อตุ๊กแกตัวเป็นล้าน ปรุงเป็นยาโด๊ป แห่ทำฟาร์ม หวังรวย )

สำหรับข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ น.สพ.เกษตร สุเตชะ สัตวแพทย์ ประจำคลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า การซื้อขายตุ๊กแกบ้านในโลกออนไลน์ โดยส่วนใหญ่จะมีความยาวที่ 17 นิ้วครึ่งขึ้นไป ให้ราคาเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท และบอกอีกว่าหากตุ๊กแกมีขนาดใหญ่ ราคารับซื้อก็จะสูงตามไปด้วย เช่น 18 นิ้ว ราคา 3 ล้านบาาท จนถึงขนาด 23 นิ้วในราคา 35 ล้านบาท ด้วยมูลค่าที่รับซื้อสูงเช่นนี้ ได้สร้างความแตกตื่นให้กับสังคมเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นดังกล่าว ตนได้ติดตามข่าวมาตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมา ก็ได้ให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวนี้มากพอสมควร แต่ก็ยังมีข่าวในทำนองนี้ออกมาเรื่อยๆ ทั้งในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันตนก็ยังไม่เคยเห็นว่ามีการซื้อขายกันจริง

น.สพ.เกษตร กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริง ความยาวของตุ๊กแกบ้านตั้งแต่หัวจรดหางนั้น ตุ๊กแกบ้านตัวผู้ จะมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 10-14 นิ้ว และตัวเมียมีขนาด 8–11 นิ้ว ซึ่งเป็นไปตามวิวัฒนาการมาแต่อดีต ซึ่งขนาดตุ๊กแกที่มีการรับซื้อในโลกโซเชียล มันใหญ่กว่าขนาดธรรมชาติกำหนดมา จึงหาได้ยากถึงยากมาก

...

"การประกาศรับซื้อตุ๊กแกที่มีขนาดมากกว่า 23 นิ้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เหมือนสั่งซื้อ ตุ๊กซิล่า (ตุ๊กแก ผสม กอซซิลลา) ซึ่งหากผมจะประกาศรับซื้อตุ๊กแกบ้าน ความยาว 1 เมตร ในราคา 3 พันล้านบาท หรือเสือโคร่งเผือก ที่มีหาง 9 เส้น ในราคา 1 หมื่นล้านบาท ก็สามารถทำได้เช่นกัน"

ขณะเดียวกัน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้ 'ตุ๊กแกบ้าน' เป็นสัตว์ป่าในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่า แนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในกลุ่มสัตว์ที่มิใช่สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง และมิได้อยู่ในบัญชี (Appendix) ท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์-CITES ผู้จะนำเข้า หรือส่งออกตุ๊กแกบ้าน จะต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานฯ ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นการส่งออกตุ๊กแกไปขายที่มาเลเซียในครั้งนี้ อาจจะเข้าข่ายละเมิดกฎ ถ้าไม่แจ้งกรมอุทยานฯ ก่อน