พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559

เรื่องที่กำลังกลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลและบังคับใช้กฎหมาย คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ ทันตแพทย์บางกลุ่มที่ครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีทันตกรรมหรือเครื่องเอกซเรย์ฟันที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ด้วย

โดยกลุ่มทันตแพทย์ให้เหตุผลในการคัดค้านว่า เครื่องเอกซเรย์ฟันก็คล้ายเครื่องไมโครเวฟที่ทุกบ้านมี ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆต่อชีวิต และถ้าอยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าวก็จะทำให้ทันตแพทย์มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีบทลงโทษที่รุนแรงหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ขณะที่ ปส.ให้เหตุผลว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการกำกับดูแลความปลอดภัยพลังงานนิวเคลียร์รวมทั้งรังสีชนิดที่ก่อให้เกิดไอออน เพื่อให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมปลอดภัยและได้รับการดูแลตามมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และแม้ว่าเครื่องเอกซเรย์ฟันจะมีขนาดเล็ก แต่ก็เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงกับสิ่งมีชีวิต จึงมีความเสี่ยง พร้อมระบุว่า ไม่ควรนำไปเทียบกับไมโครเวฟ เพราะพลังงานที่ออกจากไมโครเวฟเป็นรังสีชนิดไม่ก่อให้เกิดไอออนและมีพลังงานต่ำกว่าที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกำหนด คือต่ำกว่า 5 keV แต่เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมมีค่าพลังงานสูงสุดในช่วง 60-120 keV ซึ่งเป็นค่าพลังงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

...

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ขอเจาะอดีตกลับไปดูถึงที่มาของ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯที่เป็นปมแห่งความขัดแย้ง

พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เริ่มยกร่างในปี 2548 มีผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์มาเป็นคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย อาทิ ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวง
สาธารณสุข ทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น จากนั้นปี 2549 เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 2 ครั้ง ก่อนที่ปี 2550 ปส.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวและวันที่ 22 มิ.ย.2558 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเสร็จมี 152 มาตรา ก่อนที่วันที่ 4 ส.ค.2558 ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบและส่งให้ สนช. พิจารณา วันที่ 11 ก.พ. 2559 ผ่านวาระที่ 1 และวันที่ 19 พ.ค.2559 ผ่านวาระที่ 2 และ 3 จากนั้น วันที่ 5 ส.ค.2559 พ.ร.บ.
ดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ 1 ก.พ.2560 และจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 29 ต.ค.2560 ซึ่งถือได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านกระบวนการตามปกติ

หลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ กลุ่มทันตแพทย์มีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านและ “ขอยกเว้น” ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ด้วยเหตุผล 1. เครื่องเอกซเรย์ฟันมีความปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตครอบครอง 2.การขอเทียบวุฒิการศึกษาของทันตแพทย์เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) โดยไม่ต้องสอบรับใบอนุญาตตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. และ 3.บทกำหนดโทษใน พ.ร.บ. รุนแรงเกินไป

ขณะที่ ปส.ได้พิจารณาข้อเรียกร้องพร้อมชี้แจงต่อเนื่องว่าไม่สามารถดำเนินการตามที่กลุ่มทันตแพทย์เรียกร้องได้ทั้งหมด เพราะต้องคำนึงถึง “ความปลอดภัยของประชาชน” รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม

“เครื่องเอกซเรย์ฟันมีค่าพลังงานที่ปล่อยออกมาในระดับใกล้เคียงกับเครื่องแมมโมแกรม และเครื่องตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก รวมถึงเครื่องกำเนิดรังสีที่ใช้ในด้านต่างๆ บางประเภท หากมีเครื่องกำเนิดรังสีประเภทใดประเภทหนึ่งได้รับการยกเว้น ก็จะสร้างความเหลื่อมล้ำสำหรับผู้ใช้เครื่องกำเนิดรังสีประเภทอื่นๆ ที่สำคัญถ้าควบคุมไม่ได้ก็เป็นที่น่ากังวลว่าอาจมีการนำเข้าเครื่องกำเนิดรังสีมือสองจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้งาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ที่สำคัญ ปส. ได้ยกเว้นและอนุญาตให้บุคลากรใน 5 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เทคนิคการแพทย์ (เทคนิครังสี) และฟิสิกส์การแพทย์ ไม่ต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ขณะที่บทกำหนดโทษ ก็ไม่ได้รุนแรงและไม่เสียประโยชน์อะไรเลย มีเพียงค่าใบอนุญาตครอบครองเครื่อง 1,000 บาทต่อ 5 ปี ค่าตรวจสภาพ 1,000 บาทต่อ 2 ปีและค่าใบอนุญาตเป็นผู้ดูแลเครื่องเพียง 500 บาทต่อ 3 ปีเท่านั้น

...

จะมีโทษก็ต่อเมื่อทันตแพทย์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ RSO เช่น ไม่ทำรายงาน ไม่ตรวจประเมินเครื่องกำเนิดรังสีตามเวลาที่กำหนด หรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตครอบครองฯ หากตรวจพบ ปส.จะทำการตักเตือนก่อน 2 ครั้ง หากยังคงเพิกเฉย จะถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตและจะทำแบบนี้กับเครื่องเอกซเรย์อื่นด้วย” รศ.ดร.
สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ระบุและว่า...ไม่มีการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสีใดๆ ที่ปราศจากความเสี่ยง

ขณะนี้ มีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศที่มีเครื่องกำเนิดรังสี มาขอใบอนุญาตกับ ปส. แล้วกว่า 90% ส่วนคลินิกทันตกรรม ก็ทยอยมาขอใบอนุญาตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงทางออกในเรื่องนี้ว่า กรมฯ และ ปส.ทำงานร่วมกันมาตลอด ทางออกของเรื่องนี้ คือ ปส.ต้องมีการสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทันตแพทย์

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า ปมแห่งความขัดแย้งใน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ ที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ดังนั้น ขอให้แต่ละฝ่ายพิสูจน์ความจริงใจและยึดเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นคำตอบสุดท้าย.

ทีมข่าววิทยาศาสตร์