เป็นที่รู้กันดี ระบบน้ำหยด ถือเป็นการให้น้ำที่ประหยัดที่สุดวิธีหนึ่ง สามารถตั้งเวลาเปิดปิดควบคุมการจ่ายน้ำได้ แต่เทคโนโลยีกลายเป็นของเก่าเสียแล้ว เพราะปัจจุบันระบบควบคุมระบบน้ำหยด ไม่แค่เวลาเปิดปิดน้ำเท่านั้น ยังสามารถจ่ายน้ำให้สอดคล้องกับอุณหภูมิ ความชื้นในดิน รวมไปถึงการพยากรณ์อากาศได้ โดยสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แต่ชุดระบบอุปกรณ์ควบคุมนี้ (รวมค่าอุปกรณ์และติดตั้ง) ราคาค่อนข้างสูงกว่า 8,000 บาท

แต่วันนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คิดค้น “สมาร์ทฟาร์มคิท” ชุดอุปกรณ์ควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะ ต้นทุนต่ำด้วยเงินลงทุนแค่ 1,000 บาท แถมหาซื้ออุปกรณ์มาประกอบติดตั้งได้เอง ชุดเดียวสามารถใช้กับแปลงเกษตรได้ถึง 625 ไร่ โดยใช้น้ำแค่ 1 ใน 3 ของระบบน้ำหยดเดิม

รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า ชุดอุปกรณ์นี้เป็นการทำงานร่วมของระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ ภายในจะมีบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ช่วยควบคุมอุปกรณ์เปิด-ปิดไฟฟ้ากับระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ พยากรณ์อากาศ ตรวจวัดอุณหภูมิ

...

กรณีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเกินกว่ากำหนด เช่น สูงเกิน 35 ํ C พืชจะเข้าสู่ภาวะเครียดเนื่องจาก สูญเสียน้ำมาก ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ออกดอกออกผล ระบบจะสั่งเปิดปั๊มน้ำเป็นระบบน้ำหยด หรือสปริงเกอร์ จนกว่าอุณหภูมิจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันจะวัดความชื้นในดิน จากการตรวจความชื้นในอากาศหากต่ำกว่าที่กำหนด เช่น หากตรวจพบความชื้นในดินต่ำกว่า 50% ระบบจะสั่งรดน้ำโดยอัตโนมัติ

และระบบสั่งการและแจ้งเตือนทั้งหมด สามารถผ่านระบบ Line และแอพพลิเคชั่น ในสมาร์ทโฟน เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดเวลา...เกษตรกรที่สนใจขอรับคำปรึกษาได้ที่ 08-9446-1900, 0-2564-4482 (สาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน) และ 0-2564-4488 (สาขาเทคโนโลยีการเกษตร) หรือ www.sci.tu.ac.th