นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยว่า ขณะนี้ทุเรียนทั้งในจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ประกอบกับที่ผ่านมามีการส่งออกทุเรียนในรูปแบบแช่แข็งไปยังประเทศคู่ค้า จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยปี 2557 ส่งออก 17,142 ตัน ปี 2558 ส่งออก 22,187 ตัน และปี 2559 ปริมาณการส่งออกเพิ่มเป็น 20,430 ตัน มูลค่า 2,172.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าตัว

“การส่งออกทุเรียนแช่แข็งให้กับประเทศคู่ค้า ส่วนใหญ่จะส่งออกทุเรียนผลสุกประมาณ 70-80% โดยบรรจุในลังกระดาษ กล่องละประมาณ 4 ผล แต่ในระยะหลังเริ่มมีการส่งออกในลักษณะเนื้อทุเรียนสุกแช่แข็งมากขึ้น เพราะสะดวกในการรับประทาน ไม่เสี่ยงต่อการเจอทุเรียนอ่อน และยังช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการกำจัดเปลือกทุเรียน”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว นางสาวดุจเดือน บอกว่า ที่ผ่านมาทำให้ล้งไม่ผ่านมาตรฐานสุขอนามัยและหันมาส่งออกทุเรียนแช่แข็งแบบนี้มากขึ้น มีความเสี่ยงต่อการทำลายระบบตลาดและความน่าเชื่อถือในคุณภาพทุเรียนแช่แข็งของไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช.จึงได้ประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้

...

มาตรฐานที่บังคับใช้ จะดูแลตั้งแต่การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง ทุเรียนแช่เย็นจนแข็งทั้งผล เนื้อทุเรียนมีเมล็ด และเนื้อทุเรียนไม่มีเมล็ด ครอบคลุมตั้งแต่การรับวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การเก็บรักษา และการขนส่ง สถานที่ประกอบการ การปฏิบัติงาน การควบคุมอุณหภูมิหลังจากตัดแต่งจะต้องไม่ต่ำกว่า -18˚C รวมทั้งการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ การทำความสะอาด ต้องถูกสุขลักษณะตามที่มาตรฐานกำหนด และที่ผ่านมาสามารถอบรมมาตรฐานทุเรียนแช่เยือกแข็งให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 50 ราย.