สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงหรือที่เรียกว่าไคลเมท เชนจ์ (Climate change) มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างใหญ่หลวง ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความกังวลใจหลังจากสำรวจพบว่าปะการังในทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิกมีจำนวนลดลงถึง 50–80% โดยเฉพาะแนวปะการังเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ มรดกโลกที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียกำลังเผชิญกับการฟอกขาวมาเป็นเวลากว่า 2 ปี และแทบจะไม่มีโอกาสฟื้นตัวอีกหลังจากที่ตรวจพบการฟอกขาวอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้
แต่ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น เกิดความสงสัยว่าก้นทะเลของเกาะภูเขาไฟใต้น้ำลูกเล็กๆชื่อชิคิเนะ ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ห่างจากกรุงโตเกียวไป 160 กม.นั้น จะมีความแตกต่างจากที่อื่นๆ และอาจเป็นกุญแจสำคัญของการอยู่รอดของปะการัง พวกเขาจึงจัดแจงทำห้องทดลองที่มีชีวิต เพื่อตรวจสอบระบบนิเวศในบริเวณน้ำแห่งนั้น พบว่าเมื่อน้ำทำปฏิกิริยากับคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้น้ำมีความเป็นด่างน้อย และเมื่อมีการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงปฏิกิริยาของภูเขาไฟใต้น้ำทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่าปรากฏการณ์ทะเลกรด
ใต้น้ำของภูเขาไฟดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลรวมทั้งปะการังสามารถเดินทางไปมาและดำรงชีวิตได้ในน้ำที่มีความเป็นด่างน้อย และปะการังของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดของโลกเรา จะเป็นข้อมูลสำคัญสนับสนุนความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทางทะเลรวมถึงวิธีปกป้องปะการังจากการถูกฟอกขาว.