ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์มองเฟดขึ้นดอกเบี้ยส่งผลดีต่อการส่งออกไทย ด้านประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ชี้ยังวางใจไม่ได้...

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. น.ส.พิมชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นไปตามคาดการณ์ของไทย เพราะเฟดส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยมาต่อเนื่อง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวอย่างจริงจัง ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกของไทยในสัดส่วน 9.7% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย การที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ทั้งไก่ ทูน่า ผลไม้กระป๋องและอาหารทะเล เมื่อสินค้าเกษตรส่งออกดีขึ้นก็จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศดีขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะการที่ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น แต่ราคาน้ำมันอาจจะไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น ทำให้สินค้าส่งออกที่เกี่ยวกับน้ำมัน เช่น ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป ไม่ได้รับอานิสงส์ ขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมาอยู่ที่ระดับ 35-36 บาท/เหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมการส่งออก แต่ต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนของเพื่อนบ้านด้วยว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เพราะจะสะท้อนถึงขีดความสามารถการแข่งขันได้

น.ส.พิมชนก กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์ยังมั่นใจว่า มูลค่าการส่งออกของไทยเฉลี่ยเดือนละ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงมีความเป็นไปได้สูง และจะส่งผลให้การส่งออกทั้งปีนี้ของไทยเป็นไปได้ตามเป้าขยายตัว 5% จากปีก่อนตามที่คาดการณ์ไว้

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และโลกเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลดีต่อการค้า การส่งออกของไทยและทั่วโลก โดยเอกชนเชื่อว่า การส่งออกไทยจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 2-3%

...


ส่วนค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 35-36 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกให้เกิดความสบายใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่น่าห่วง คือ เงินทุนไหลออก เพราะเม็ดเงินจะกลับเข้าไปในสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพคล่องในภูมิภาคและอาจทำให้ภูมิภาคปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม อีกทั้งยังต้องติดตามเรื่องของตลาด แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต แต่มีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด หรือบางตลาดอาจได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯ ดังนั้น จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงยังต้องติดตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะเกิดขึ้นอีก 2 ครั้ง เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจของโลก.