รองนายก อบต.ปากคลอง เตรียมร้อง คสช.เขตการปกครองถูก อบต.ทรายทอง รุกข้ามจังหวัดกว่า 3 พันไร่ ผู้นำอ้างจัดสรรงบบริการสาธารณะ ระหว่างชุมพร-ประจวบคีรีขันธ์ เรื้อรังมานาน 20 ปี เตรียมฟ้องศาลปกครอง...

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.60 นายประกิจ แข่งขัน รองนายก อบต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร เปิดเผยว่า ได้เกิดปัญหาข้อพิพาทพื้นที่เขตการปกครองทับซ้อนกันในหมู่บ้านบางเบิด ซึ่งอยู่ติดทะเลเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงามขึ้นชื่อระดับประเทศ ระหว่าง อบต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร กับ อบต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเขตการปกครองของทั้งสองจังหวัดดังกล่าวนั้น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 114 ลงวันที่ 5 มี.ค.2540 และในส่วนของจังหวัดชุมพรได้ประกาศเมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแบ่งเขตปกครอง โดยเป็นที่ยอมรับของทั้งสองจังหวัด แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติจริงไม่เป็นไปตามประกาศเขตการปกครอง เนื่องจากพื้นที่ของ อบต.ปากคลองถูกรุกล้ำข้ามแดนเข้ามามากกว่า 3 พันไร่

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ได้มีการประชุมพูดคุยในระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอหลายครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะทางผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ฝ่ายตำบลทรายทองไม่ยอม โดยอ้างว่าเป็นเขตปกครอง อบต.ทรายทอง เพราะมีการจัดสรรงบประมาณเข้ามาบริการสาธารณะ ทั้งการสร้างสถานที่ราชการต่างๆ การออกเลขที่บ้าน ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว

...

นายประกิจ กล่าวต่อว่า ตนได้ร้องเรียนไปยัง คสช.ชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ บก.ควบคุม มทบ.44 ให้ลงมาตรวจสอบวัดแนวเขตทั้งภาพถ่ายทางอากาศ ยิงพิกัด จีพีเอส ซึ่งก็พบว่าแนวเขตการปกครองของทั้งสองจังหวัดตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษา ก็มีความถูกต้องสอดคล้องกัน แต่ในทางปฏิบัติของท้องถิ่นกลับไม่ยึดถือแนวเขตตามประกาศเขตปกครองดังกล่าว กลับรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ตำบลปากคลองซึ่งอยู่ในจังหวัดชุมพรมากกว่า 3 พันไร่ จนประชาชนสับสน เรื่องการครอบครองสิทธิทำกินในที่ดิน การออกโฉนดที่ดิน การขอเลขที่บ้าน การขอใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหาร กิจการท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้มีการวิ่งเต้นกันเพื่อย้ายพื้นที่ข้ามไปอยู่ในเขตปกครองในจังหวัดที่ตนเองสะดวกและคุ้นเคย ทำให้เขตพื้นที่ดังกล่าวทั้งไฟฟ้า เลขที่บ้าน หมายเลขโทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์บ้าน ขอทับซ้อนกันจนมั่วไปหมดกลายเป็นปัญหามาถึงปัจจุบันนี้

“ปัญหานี้ ผู้มีอำนาจระดับสูงควรลงมาแก้ไข ปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ขณะนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการในระดับอำเภอปะทิว โดยมีมติให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสองฝ่ายตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน หากไม่มีการดำเนินการหรือตกลงกันไม่ได้ ตนจะต้องฟ้องต่อศาลปกครองให้พิพากษาตัดสินเพื่อยุติปัญหานี้ต่อไป” รองนายก อบต.ปากคลองกล่าว.