พล.อ.สุรัตน์ วรลักษณ์ เลขานุการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธาน ประชุมการแก้ปัญหาช้างป่าแบบบูรณาการ โดยมีนายเดชา นิลวิเชียร หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พ.อ.สุรินทร์ เจริญชีพ หน.ชุดปราบปรามพิเศษจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.อ.ชายธนัญชา วาจรัต ผบ.กรมทหารพรานที่ 13 นายอำเภอท่าตะเกียบ นายอำเภอสนามชัยเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้วและฉะเชิงเทรา เข้าร่วมที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการป่าไม้และสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ม.25 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา
นายเดชา นิลวิเชียร หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากช้างออกมาหากินนอกป่า ทั้งในส่วนของ จ.ฉะเชิงเทราและจันทบุรี ตั้งแต่ปี 2557-2560 มากถึง 1,980 ครั้ง โดยเฉพาะปี 2560 ตั้งแต่เดือน ต.ค.ถึงปัจจุบัน มากถึง 569 ครั้ง มีชาวบ้านเสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ 24 ราย ช้างตาย 12 ตัว และบาดเจ็บ 21 ตัว สาเหตุสำคัญที่สุดที่ช้างออกมาหากินนอกป่า คือ อัตราการเพิ่มประชากรช้างสูงและรวดเร็ว ที่อยู่อาศัยของช้างถูกรบกวน แหล่งน้ำ อาหาร เสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านอยู่ติดกับเขตป่า และพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า แม้จะมีความพยายามใช้วิธีการป้องกันช้างออกมานอกป่า เช่น ขุดคูกั้นช้าง ก็ได้ผลไม่มากนัก รวมไปถึงชาวบ้านช่วยกันขับไล่ในรูปแบบต่างๆ บางวิธีสร้างความกดดันทำให้ช้างเครียดและทำร้ายคนจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตมาแล้วหลายราย
พล.อ.สุรัตน์ วรลักษณ์ เลขานุการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด อันเนื่องมากจากพระราชดำริ กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรช้างมีมากถึง 400 ตัว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพื้นที่และแหล่งอาหารควบคู่กันไป โดยเฉพาะการปรับปรุงคูกั้นช้าง ในจุดที่ชำรุด ช้างใช้จุดนี้เข้าออกป่าไปหากิน จากนั้นเสริมคูกั้นช้างด้วยการใช้เสาคอนกรีตและเหล็กข้ออ้อย ที่มีความแข็งแรงกั้นแต่ละจุดอีกชั้นหนึ่ง คือถ้าผ่านคูกั้นช้างก็จะมาเจอกับรั้วกั้นช้างอีกชั้นหนึ่ง ในส่วนของรั้วรอบบ้านของชาวบ้านจะใช้รั้วรังผึ้งเลี้ยงไว้ เพราะนอกจากจะป้องกันช้างป่าเข้ามาในบริเวณบ้านได้แล้ว ชาวบ้านยังมีรายได้เสริมจากการขายน้ำผึ้งด้วย นอกจากนี้ จะมีการระดมสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ทำโป่งเทียมเพิ่มขึ้น เมื่อครบถ้วนก็จะช่วยกันผลักดันไล่ต้อนช้างที่ออกหากินอยู่นอกป่า ให้กลับคืนสู่ป่าเขาอ่างฤาไน ส่วนช้างที่ก้าวร้าว เกเร ก็จะนำไปอยู่ในสถานกักกันช้าง ที่เตรียมไว้แล้ว ช่วงนี้ชาวบ้านก็คงจะต้องให้ความร่วมมือระมัดระวังการออกไปตามพืชสวนไร่นา เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะหรือความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น.
...