สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีข่าวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หลายข่าวครับ ผมขออนุญาตนำเสนอข้อเท็จจริงในหลายๆ คดีที่เกิดขึ้นจริง และเป็นประเด็นข้อต่อสู้จนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา การกระทำลักษณะแบบไหน เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือไม่ ติดตามได้นะครับ

ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อได้ลงมือกระทำความผิดย่อมต้องเอาตัวรอดจากการถูกจับกุม คุมขัง ด้วยการต่อสู้ขัดขวาง หรือการใช้กำลังประทุษร้ายต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิต ร่างกายของเจ้าพนักงาน รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายได้

กฎหมายจึงกำหนดให้มีบทลงโทษ สำหรับผู้ที่ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ แม้การต่อสู้ หรือขัดขวางนั้น ไม่บรรลุผลหรือไม่สามารถขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้วครับ ในขณะเดียวกันหากเจ้าพนักงานไม่มีอำนาจจับ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ บุคคลย่อมมีสิทธิ์ที่จะปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนเองได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีการต่อสู้ขัดขวางนั้น เป็นเหตุฉกรรจ์ ผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 140 หากได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป หรือถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ หรือ ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด

...

การต่อสู้หรือขัดขวาง เป็นการทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือจิตใจของเจ้าพนักงาน เช่น การใช้มือผลักอกเจ้าพนักงาน ขณะเข้าตรวจค้นตามหมายค้น เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฎีกาที่ 5479 / 2536, การใช้มือกดอาวุธปืนไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจดึงออกมาจากเอว เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฎีกาที่ 9212 / 2539, การยิงปืนขึ้นฟ้า เพื่อขู่ตำรวจไม่ให้ไล่จับกุม เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฎีกาที่ 243 / 2509 แต่การปิดไฟ หรือไม่เปิดประตู ให้เจ้าพนักงานเข้าตรวจค้น หรือแค่พูดขอร้อง ยังไม่ถือว่าเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานครับ

ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หากผู้กระทำความผิดไม่ทราบว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ย่อมไม่เป็นความผิด เช่น เจ้าพนักงานตำรวจไม่ใส่เครื่องแบบและไม่แสดงหลักฐานว่าเป็นตำรวจกระทำการตามหน้าที่ แม้มีการต่อสู้ชกต่อยขัดขวาง ไม่ให้ตำรวจค้นเอาเงินหรือทรัพย์สินของตนไป ย่อมไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฎีกาที่ 148 / 2513

ผู้กระทำความผิดจะต้องต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ หากเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานไม่มีอำนาจจับกุม หรือตรวจค้น แม้จะได้ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมหรือตรวจค้น ก็ไม่เป็นความผิด เช่น การจับโดยไม่มีหมายและกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1) ถึง (4) และวรรคสุดท้าย เป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยต่อสู้ขัดขวางการจับกุมก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 คำพิพากษาฎีกาที่ 719 / 2501

เมื่อท่านตกอยู่ในสถานการณ์ ที่ถูกจับกุมหรือตรวจค้น เบื้องต้นท่านต้องขอตรวจสอบบัตรประจำตัวของเจ้าพนักงาน รวมถึงเอกสารหมายจับ หรือหมายค้น หรือสอบถามข้อเท็จจริงที่อ้างว่าท่านได้กระทำความผิด กรณีที่เจ้าพนักงานอ้างว่ากระทำความผิดซึ่งหน้า

ทั้งนี้ ในสถานการณ์จริง ท่านอาจจะไม่มีโอกาสได้ขอตรวจสอบหรือสอบถามข้อเท็จจริงนะครับ พยายามอย่าใช้อารมณ์ เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น การใช้กล้องติดรถ กล้องวิดีโอ หรือ โทรศัพท์มือถือ ถ่ายภาพเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่นั้น ไม่เป็นการละเมิดเจ้าพนักงานนะครับ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้น ต้องสุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ การเก็บภาพบริเวณโดยรอบ ทะเบียนรถ หรือบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ก็สำคัญมากนะครับ เนื่องจากเป็นประจักษ์พยานชั้นดีที่จะพาท่านหลุดพ้นข้อกล่าวหาทั้งปวงได้ครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ

...