ชาวบ้านร้องสื่อฯ ปัญหาน้ำเค็มหนุนผลกระทบ พื้นที่เกษตรนนทบุรี วอนกรมชลประทานนำน้ำดี จากแม่น้ำท่าจีน เข้าผลักดันน้ำเค็มออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ด้าน จนท.เกี่ยวข้องเร่งประสานช่วยเหลือเกษตรกร
เวลา 11.00 น. วันที่ 17 ก.พ.60 ที่ว่าการกำนันตำบลบ้านใหม่ เลขที่ 44/3 หมู่ 3 ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวได้รับร้องเรียนเรื่องปัญหาน้ำเค็มส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ อ.บางใหญ่และ อ.บางกรวย จึงพร้อมด้วย นายณัฐพล ดิษฐวิบูลย์ ปลัดอำเภอบางใหญ่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรกว่า 60 ราย เข้าร่วมประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำเค็มเข้าพื้นที่ จนส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม พื้นที่จังหวัดนนทบุรี มักจะได้รับผลกระทบเกือบทุกปี มากน้อยต่างกัน โดยในปีนี้ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.2560 น้ำเค็มเริ่มเข้ามาตามคลองส่งน้ำที่เชื่อมต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น คลองบางใหญ่ คลองบางม่วง คลองบางสีทอง คลองบางภูมิ คลองพระอุดม ทำให้พืชผลเหี่ยวเฉา ไม่กินปุ๋ย ใบเหลือง ซึ่งขณะนี้บางคลองมีค่าน้ำเค็มสูงถึง 2.0 กรัม/ลิตร จึงต้องวางมาตรการเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และทำให้ค่าความเค็มไม่เกินไปกว่ามาตรฐาน
เหตุนี้เองชาวบ้านต้องการให้กรมชลประทานช่วยในการนำน้ำดีจากแม่น้ำท่าจีนเข้ามาผลักดันน้ำเค็มออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และปิดประตูน้ำคลองส่งน้ำหลัก รวมทั้งให้สร้างจุดทำนบกั้นน้ำทั้ง 7 แห่ง คือ จุดสร้างทำนบเสาธงหิน คลองบางโค คลองบางโสน คลองบางม่วง คลองโสนน้อย คลองบางนา และคลองปลายบาง ให้แล้วเสร็จก่อนที่น้ำเค็มจะหนุนเข้ามามากกว่านี้จนเกิดความเสียหายกับเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม ทางกรมชลประทานได้รับเรื่องผลักดันน้ำเค็ม และปิดประตูน้ำ จากแม่น้ำเจ้าพระยาตามเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนเรื่องการสร้างทำนบกั้นน้ำอยู่ในระหว่างนำเสนอโครงการเพื่อรออนุมัติงบประมาณในการจัดสร้างต่อไป
...
นายนิพนธ์ ชัยวงศ์รุ่งเรือง อายุ 70 ปี เจ้าของสวนกล้วยไม้เฉลิมศรี เปิดเผยว่า ตอนนี้น้ำเค็มเริ่มเข้ามา ทางกรมชลฯ ได้มีการเฝ้าระวังอยู่ เหมือนปีที่ผ่านมา ก็มีการเฝ้าระวังแบบนี้ ในที่สุดน้ำเค็มก็เข้าไปลึกจนถึงคลองนารายณ์ภิรมย์ซึ่งถึงกลางพื้นที่การเกษตร อย่างปีที่แล้วน้ำเค็มเข้ามาแล้วเกษตรกรไม่รู้ ต้องเปิดน้ำประปาลงบ่อพักไว้ก่อนนำมารดสวน ทำใหค่าน้ำประปาเดือนละ 10,000 กว่าบาท ตนอยากให้ทางกรมชลฯ ที่รับผิดชอบปิดประตูน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึง อ.บางบัวทอง น้ำเค็มจะเข้าพื้นที่ไม่ได้
น.ส.รุ่งนภา อิ่มใจ อายุ 38 ปี เจ้าของแปลงเกษตรกุยช่าย กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาน้ำเค็มเริ่มเข้ามาในพื้นที่แล้ว ทำให้กุยช่ายใบเริ่มแดง ถ้าน้ำเค็มเข้ามาเต็มที่ผักจะใบแดงทั้งหมดตัดขายไม่ได้ ตนต้องตัดขายทุกวัน ตอนนี้มีพื้นที่เกษตรประมาณ 5 ไร่ ตัดผักส่งขายประมาณวันละ 100 กก. เกิดผลกระทบหลายส่วนทั้งพืชผัก กล้วยไม้และนาข้าว ถ้าน้ำเค็มเข้ามาสวนผักของตนจะตัดขายไม่ได้เลย เสียหายทั้งหมด
นายภูมิวิทย์ นารถสกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล กล่าวว่า ผลกระทบที่น้ำเค็มจะเข้า อ.บางกรวยและอ.บางใหญ่ น้ำจะมาจากทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยาตามระดับน้ำขึ้นน้ำลงและน้ำทะเลหนุน ทางกรมชลประทานจะปิดประตูน้ำในเวลาที่น้ำขึ้น แต่ที่มีน้ำเค็มเข้ามาเนื่องจากคลองเล็กๆ ที่เป็นสาขาและไม่มีประตูน้ำบังคับน้ำ ทำให้น้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว
"การวางแผนป้องกันของโครงการพระพิมลได้วางแผนทำทำนบน้ำอีก 8 จุดจากผลกระทบที่เกิดจากปีที่แล้ว จึงขออนุมัติทำทำนบชั่วคราวตอนนี้อยู่ระหว่างทางกรมฯ อนุมัติ ถ้าน้ำเค็มเข้าพื้นที่ตอนนี้เกิดผลกระทบแน่นอน จึงต้องเฝ้าระวังถ้ามีน้ำเค็มเข้ามาต้องใช้น้ำนอนคลองในพื้นที่ผลักดันน้ำ หลังจากนั้นน้ำนอนคลองจะขาดไปทางกรมชลฯ จะมีการสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีนเพื่อผลักดันน้ำ ทางกรมชลฯ ในพื้นที่นนทบุรีได้มีการประสานงานกับหน่วยงานของกรมชลประทานที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องการระบายน้ำมาผลักดันน้ำเค็ม"