ชาวพะเยา ทยอยเก็บส้มป่อยเดือนห้าเป็ง 1 ปี มี 1 ครั้ง ผลไม้มงคลของชาวล้านนา นิยมลงปลุกเสกพิธีกรรมทั้งทางศาสนาและพิธีกรรมของชาวบ้าน เชื่อเป็นของสิริมงคล
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.60 นายห่วง เสมอเชื้อ อายุ 67 ปี ชาวจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ส้มป่อยเป็นไม้ผลมงคล ต้นจะออกเป็นเถาเลื้อยพันขึ้นกับต้นโพธิ์ หรือต้นไม้ใหญ่ จะออกผลเป็นฝักช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ.ของทุกปี โดยจะออกผลเพียง 1 ครั้ง ตามความเชื่อของชาวเหนือล้านนามาแต่โบราณจะเก็บผลฝักส้มป่อยเดือนห้าเป็ง หรือเดือนก.พ. เพราะเชื่อว่าเป็นเดือนที่มีความสำคัญของทางพระพุทธศาสนา หรือ วันมาฆบูชา เพราะส้มป่อยจะมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวหากเก็บไว้ช่วงเดือนห้าเป็งแล้วจะดี หากได้มีการปลุกเสกก็จะดียิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
สำหรับส้มป่อยนิยมใช้ในงานพิธีกรรมทั้งทางศาสนาและพิธีกรรมของชาวบ้าน จะเอาส้มป่อยมาทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์ รดปะพรม รดน้ำดำหัว เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเอง บ้านเรือน อาคาร ร้านค้า และยังขจัดเสนียดจัญไร สิ่งชั่วร้ายออกไปจากตัว จากที่อยู่อาศัยด้วย ซึ่งได้มีการสืบทอดกันมาแต่โบราณกาลจนถึงทุกวันนี้
...
นางทองคำ ครองทรัพย์ อายุ 56 ปี กล่าวว่า ส้มป่อยนั้นสามารถป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ได้ หากมีการผ่านการปลุกเสกสามารถนำมามัดกับด้ายสายสิญจน์มัดผูกขวางกั้นไว้หน้าประตูหรือทางเข้าบ้าน สามารถป้องกันสิ่งอัปมงคลชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในบ้านได้ และยังสามารถปกปักรักษาผู้ที่ครอบครองหรือมีส้มป่อยด้วย โดยเฉพาะส้มป่อยเดือนห้าเป็ง จึงถือว่าเป็นไม้ผลมงคลที่ชาวบ้านต้องเสาะหาเก็บไว้ใช้ในบ้านกันทุกหลังคาเรือน เพราะส้มป่อยจะใช้ได้ทุกงานตลอดปีนั่นเอง
สำหรับวิธีการเก็บส้มป่อยจะเริ่มเก็บเดือนห้าเป็ง หรือเดือน ก.พ.เท่านั้น เก็บได้เอามาตากแดด 5-6 แดดจนแห้งสนิท แล้วเอามาบรรถุงเก็บไว้ หรือบางคนจะเอาไปให้พระสงฆ์หรือเกจิดังทำการปลุกเสกให้ เพื่อเพิ่มพลังพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น การใช้ส้มป่อยทางพระพุทธศาสนา พระสงฆ์จะใช้ส้มป่อยผสมน้ำทำน้ำพระพุทธมนต์ หรือใส่ขันพระครู
ทั้งนี้ทางชาวบ้านจะนิยมใช้ทำน้ำมนต์อาบ รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หรือทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน สะเดาะเคราะห์ จนถึงงานศพ สรุปนั่นคือหากมีงานหรือพิธีก็จะต้องมีส้มป่อยใช้ในงานนั้นทุกครั้งนั่นเอง.