ฮือฮา....คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างภาพประติมากรรมแสงแดด คล้ายพระพักตร์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน เหมือนไม่ได้จากพวกเราไปไหน
จากกรณีมีการแชร์ภาพทางสังคมออนไลน์ เป็นภาพประติมากรรมแสงแดด ที่ติดอยู่บนผนังกำแพงตึกชั้น 4 ภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นภาพคล้ายพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่ถูกแสงอาทิตย์ในตอนบ่าย (15.52 น.) สาดส่องเข้ามากระทบกับวัตถุที่สร้างขึ้นมา และการสร้างประติมากรรมนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมทั้งเป็นการไว้อาลัย 100 วัน ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร มีชาวเน็ตเขาไปชื่นชมผลงานของอาจารย์เป็นจำนวนมาก
วันที่ 25 ม.ค. 60 ทางผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดเชียงใหม่ จึงเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรากฏว่า มีประชาชนและนักศึกษามายืนรอถ่ายภาพเป็นจำนวนมาก
จากการสอบถาม อาจารย์บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล และ อาจารย์กานต์ คำแก้ว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การสร้างภาพประติมากรรมแสงแดด ในครั้งนี้มี ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล และทีมงานของคณะฯ ร่วมกันออกแบบสร้างผลงานนี้ขึ้นมา เพื่อน้อมรำลึกแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ครบ 100 วัน บำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร
...
โดยอาจารย์ บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล เล่าถึงแรงบันดาลใจที่สร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาว่า "ผมก็เหมือนกับคนไทยคนอื่นๆ ที่เสียใจ หลังจากที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 สวรรคตลง และเราก็อยากจะหาทางรำลึกถึงท่าน เลยคิดถึงตัวแสงของพระอาทิตย์ที่จะใช้สร้างพระพักตร์ของท่านให้มาปรากฏขึ้นอีกครั้ง เราคิดว่า วันที่เราสูญเสียท่าน ท่านไม่ได้จากพวกเราไปไหน แต่ว่าท่านยังอยู่บนท้องฟ้า และแสงพระอาทิตย์ก็เป็นสะพานที่ช่วยพาท่าน กลับมาหาพวกเราอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราจึงช่วยกันออกแบบตัวชิ้นงานประติมากรรม เพื่อให้รับกับแสงพระอาทิตย์ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท่านใกล้สวรรคต คือเวลา 15-16 นาฬิกา ช่วงเวลานี้ จะเป็นช่วงเวลาที่แสงพระอาทิตย์ส่องลงมากระทบพระพักตร์ของท่านได้ทรงยิ้ม และปรากฏขึ้นมาที่บนผนังแห่งนี้"
ต่อคำถามถึงอาจารย์กานต์ คำแก้ว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกท่านหนึ่งว่า "วัสดุในการทำใช้อุปกรณ์อะไรบ้างตัวชิ้นงานนั้น เราใช้อะลูมิเนียมคอมโพสซิส ซึ่งเป็นวัสดุที่ดูผิวอาคารที่มีความคงทนถาวรที่ตั้งอยู่บนโครงเหล็ก โดยอุปกรณ์ทั้งหมดเราสามารถหมุนปรับเปลี่ยนองศา ในการรับแสงได้ ทำให้ภาพมีความสมบูรณ์มากขึ้น และเหล็กสามเหลี่ยมด้านหลังที่ยึดกับตัวภาพยังสามารถที่จะพับเก็บเข้ามาไว้ได้ในตอนที่เราอาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือซ่อมบำรุงงาน" อาจารย์กานต์ กล่าว
ทั้งนี้ ในสังคมออนไลน์ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กของอาจารย์ทั้ง 2 ท่านเป็นจำนวนมาก