มาถึงตอนที่สองแล้ว สำหรับ รายงานพิเศษชุด "ตามรอยพระบาท ร.10" ซึ่งในตอนแรก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ลงพื้นที่บ้านนาจาน อ.นครไทย จ.พิษณุโลก (ตามรอยพระบาท ร.10 EP.1 จากสนามรบสู่ความสงบสุข ณ พิษณุโลกสองแคว) ซึ่งถือเป็นการเดินตามรอยพระบาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งเคยเสด็จพระราชดำเนินมาค้างแรม ณ ฐานปฏิบัติการนาจาน บ้านนาจาน ในการนั้น พระองค์ยังทรงแนะนำวิธีการตั้งรับปรับค่ายให้กับเจ้าหน้าที่รวมถึงกล่าวให้กำลังใจกับเหล่าทหารหาญ เจ้าหน้าที่ อส.และราษฎรในพื้นที่นำความปลาบปลื้มใจมาสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า
มุ่งหน้าสู่ ภูหินร่องกล้า อดีตฐานที่มั่นกลุ่มคอมมิวนิสต์
เมื่อสำรวจอดีตฐานปฏิบัติการบ้านนาจานเสร็จสิ้น ทีมข่าวฯ มุ่งหน้าไปอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่อยู่รอยต่อ จ.พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และ จ.เลย นั่นก็คือ “อุทยานภูหินร่องกล้า”
...
ที่แห่งนี้มีเรื่องเล่ามากมาย เนื่องจากเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ และมีกำลังกล้าแกร่งที่สุด แต่เมื่อความสงบสุขมาเยือน ดินแดนแห่งนี้แปรเปลี่ยนเป็นสถานที่ที่ใครหลายคนใฝ่ฝันอยากจะมาเที่ยว...
แค่เพียงชั่วโมงเศษ เราเดินทางออกจากบ้านนาจาน อ.นครไทย จ.พิษณุโลก มาถึงจุดหมาย ณ ภูหินร่องกล้า การเดินทางครั้งนี้ สะดวก ราบรื่น และรวดเร็ว ต้องยกความดีความชอบให้กับ "พี่ยุทธ์" คนเดิม นักข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดพิษณุโลก ที่เป็นไกด์นำทางให้จนถึงที่หมายอย่างทันใจ แม้หนทางจะคดเคี้ยวเลี้ยวลดดั่งงูเลื้อย ขึ้นเขาลงผา ก็ไม่หวาดหวั่น โดยมีน้าเยา โชเฟอร์ที่ตะลุยมาแล้วทุกสารทิศพาเราไป
แค่เพียงอึดใจ...เราก็ถึงที่หมาย ภูหินร่องกล้า!
ก้าวแรกที่ลงจากรถ สัมผัสได้ทันทีคืออากาศบริสุทธิ์ สูดเข้าไปเต็มปอดแบบที่เราหาไม่ได้จากกรุงเทพฯ ไอเย็นผ่านลมหายใจรู้สึกชื้นใจจริง ๆ
วันที่เราไปนั้น คือสัปดาห์ก่อนจะถึงวันสิ้นปี บรรยากาศผู้คนจึงไม่ขวักไขว่นัก อากาศที่สัมผัสตอนนั้นไม่เย็นมาก ประมาณ 25-26 กว่าองศา (คาดว่าตอนนี้น่าจะหนาวกันแล้ว)
สิ่งที่สะดุดตาสิ่งแรกที่เห็นก็คือ ป้าย...ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูหินร่องกล้า เมื่อเดินไปนิด ก็จะเห็นคล้ายซากอะไรบางอย่าง เมื่อเดินไปดูใกล้ๆ จึงพบว่าเป็นซากเฮลิคอปเตอร์และกระสุนปืนใหญ่ที่เหลือจากการสู้รบกันในอดีต
เมื่อเดินเข้าไปยังจุดบริการนักท่องเที่ยว เราก็เจอ “พี่เสือ” หรือ มนัส สีเสือ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ยืนยิ้มแฉ่ง ฟันขาวเห็นแต่ไกล ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่เราไม่ได้มาเที่ยวจึงเข้าสอบถามพูดคุยเรื่องราวในอดีต...ซึ่งเขานี่แหละรู้ดีที่สุด!
พี่เสือ ของเรา เล่าว่า อดีตเคยเป็นทหารพรานเคยเข้ามาควบคุมดูแลในพื้นที่ภูหินร่องกล้า โดยเกิดในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เลย และ เพชรบูรณ์ ซึ่งถือเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในสมัยก่อน ตอนเด็กๆ ก็เห็นเหตุการณ์การสู้รบโดยตลอด โดยเริ่มต้นจากกลุ่มคอมมิวนิสต์เข้ามาปลุกระดมชาวเขา ประชาชน ตั้งแต่ปี 2507 โดยยกประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ด้วยเหตุนี้ จึงมีชาวเขา ซึ่งเดิมก็ปลูกฝิ่น ชาวบ้านบางส่วนเข้าร่วม ทำให้มีกำลังกล้าแข็ง รวมกัน ณ ที่อุทยานภูหินร่องกล้า กว่า 3,000-4,000 คน
...
ภูหินร่องกล้ามียุทธภูมิที่ดีมาก มีภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน หน้าผาเป็นแนวยาว นอกจากนี้ยังมีถ้ำตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถอยู่ได้หลายร้อยคน นอกจากนี้ พื้นที่ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศลาวได้ ด้วยประการฉะนี้ ภูหินร่องกล้า จึงเป็นยุทธภูมิสำคัญในสมัยก่อน...
ช่วงปะทะหนักหน่วง ตั้งแต่ 2511-2516 รวม 5 ปี มียุทธการใหญ่ 2 ยุทธการ คือ ยุทธการภูขวาง และยุทธการสามชัย ซึ่งทั้ง 2 ยุทธการมีการสู้รบกันอย่างดุเดือด ใช้อาวุธหนักเข้าโจมตีกันและกัน แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถยึดภูหินร่องกล้าได้
ต่อมา การสู้รบได้ยืดเยื้อยาวนานนับ 10 ปี กระทั่งมีคำสั่ง 66/2523 ที่มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดหรือเคยเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ อีกทั้งมีการแตกคอกันภายใน ทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มเสื่อมถอยในที่สุด
พระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 นั้น แผ่ไพศาล ในช่วงที่มีการสู้รบกัน ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงใยในราษฎรและทหารกล้า โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ท่านทรงเสด็จมาทรงเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตามค่ายทหารตำรวจ โดยเฉพาะที่บ้านหมากแข้ง จ.เลย ซึ่งเปรียบเสมือนว่าพระองค์ท่านเสด็จมาที่นี่อยู่แล้ว เพราะแถบนี้เป็นเขตอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ทั้งหมด เพียงแต่พระองค์ไม่ได้เสด็จมาที่ภูหินร่องกล้าเท่านั้น
แต่..หลังจากสงบ รัฐบาลได้มีการสำรวจแหล่งธรรมชาติ ซึ่งดูแล้วเหมาะที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติ
ฟังพี่เสือเล่าถึงประวัติศาสตร์ภูหินร่องกล้าแล้ว จะไม่ขึ้นชมเก็บภาพความงามมาฝากก็ดูเหมือนจะเดินทางมาไม่ถึง ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวฯ จึงเดินขึ้นชมธรรมชาติ ณ ภูหินร่องกล้ากันเลย!
โดย 2 จุดแลนด์มาร์กที่สำคัญที่เราเก็บภาพมาฝากก็คือ “ลานหินปุ่ม” กับ “ผาชูธง”
...
เป็นไงบ้างครับสวยน่าเที่ยวไหม...แต่ขอบอกว่า งานนี้เล่นเอาทีมข่าวไทยรัฐเหงื่อตกเหมือนกัน แต่...รับรองว่าเมื่อถึงที่หมายแล้ว ทุกคนต้องร้องเป็นเสียงเดียวกัน “มันงดงามและคุ้มค่ามากๆ”
ทั้งนี้ ในวันแรกนี้ของการเดินทางของเราจบลงที่ ภูหินร่องกล้า แต่รายงานพิเศษชิ้นนี้ยังไม่จบ เพราะเราจะมุ่งหน้าหาอดีตฐานปฏิบัติการที่ จ.เพชรบูรณ์ กันต่อ....
...
สำรวจเขาค้อ ยุทธภูมิประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่ทหาร
เรื่องเล่าก่อนเดินทาง...เพชรบูรณ์ อีกแหล่งฐานที่มั่นคอมมิวนิสต์ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ทำไมเราถึงมาที่เพชรบูรณ์...คำตอบคือ เพราะ จ.เพชรบูรณ์ คืออีก 1 ฐานที่มั่นของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเดินทางมาถึงที่แห่งนี้
ฐานสำคัญที่เราจะเดินทางไป คือ ฐานปืนใหญ่เขาค้อ และฐานปฏิบัติการสมเด็จ
จากพระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เคยเดินทางมาคือ...
หลังจาก พระองค์เสด็จออกจากบ้านนาจาน จากนั้น ได้เดินทางมาที่ฐานปืนใหญ่เขาค้อ และ เสด็จฯ ไปยังฐานปฏิบัติการ “สมเด็จ” ระหว่างเดินทางได้มีกลุ่มคนร้ายซุ่มโจมตี พระองค์ท่านได้ทรงจับปืนสู้รบด้วยพระองค์เองอย่างห้าวหาญ กระทั่งขับไล่กลุ่มที่เข้ามาโจมตีไปได้ แม้เฮลิคอปเตอร์คุ้มกันจะได้รับความเสียหาย แต่ก็สามารถลงจอดได้ (อ่านรายละเอียดจากเนื้อหาฉบับเต็ม พระปรีชา ร.10 ผู้ทรงกล้าหาญ ปกป้องประชาจากภัยคุกคาม)
จุดหมายแรกที่จะไปคือ การไปดูสิ่งที่ยังหลงเหลือจากอดีต นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์อาวุธ (ฐานอิทธิ) ซึ่งเดิมที ณ ที่แห่งนี้คือฐานปืนใหญ่เขาค้อ ที่เคยมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสู้รบกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบัน กลายเป็นพิพิธภัณฑ์
ประวัติความเป็นมาของ ฐานอิทธิ เนื่องจากรัฐบาลกับกลุ่มคอมมิวนิสต์มีการสู้รบกันมาอย่างยาวนานในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ สูญเสียกำลังและไพร่พล รวมถึงมีคนล้มตายจำนวนมาก ดังนั้น กองทัพภาคที่ 3 จึงต้องการ “เผด็จศึก” ให้ได้ ด้วยการเปิด “ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1” โดยขับไล่กลุ่มคอมมิวนิสต์ออกจากเขาค้อได้ ภายใต้การยิงสนับสนุนจากฐานสมเด็จ (ฐานสมเด็จเป็นฐานยิงของ พัน.ป.3404 ) จากนั้นได้มีฐานปืนใหญ่ย้ายขึ้นมาบนเขาค้อ (ฐานยิงสนับสนุนอิทธิในปัจจุบัน) โดยได้ทำการเคลื่อนย้ายปืนใหญ่จากฐานสมเด็จขึ้นเขาค้อ โดยมีการ เปิด “ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 2” โดยทำการเคลื่อนย้ายปืนใหญ่ 155 มม. จำนวน 1 กระบอก และอาวุธอื่น ๆ ไปตั้งยิงเมื่อวันที่ 17 ก.พ.24
ฐานยิงเขาค้อแห่งนี้ สามารถยิงสนับสนุนและส่งผลให้กลุ่มคอมมิวนิสต์ถึงกับพ่ายแพ้ เนื่องจากชัยภูมิที่อยู่สูง มองเห็นรอบเมืองจึงทำให้ได้เปรียบในการรบ อย่างไรก็ดี ฐานแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อจาก ฐานยิงปืนใหญ่เขาค้อ มาเป็น ฐานยิงสนับสนุนอิทธิ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พ.อ.อิทธิ สิมารักษ์ ผช.ผอ.พตท. 1617 ซึ่งเสียชีวิตจากการบัญชาการที่เขาค้อ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.23 ก่อนที่การสู้รบจะจบลงอย่างสิ้นเชิงในปี 2525
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจยังได้เยี่ยมชมฐานแห่งนี้ ซึ่งถือเป็น พิพิธภัณฑ์อาวุธที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่บนภูเขาสูง เราได้สัมผัสอากาศหนาวเย็นอีกด้วย โดยเราจะได้เห็นอาวุธที่ปลดประจำการ รวมถึงร่องรอยการต่อสู้จากอาวุธต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องบิน บข.8 (F-5) ที่ขับโดย น.ต.พงษ์ณรงค์ เกษรศุกร์ ออกโจมตีทางอากาศในการปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์ ก่อนจะถูกยิงตกที่บริเวณเขาปู่ พิกัด QU 046-402 จ.เพชรบูรณ์
ทั้งนี้ เมื่อไปถึง ฐานอิทธิ เราได้เยี่ยมชมอาวุธเสร็จ เราได้เจอพี่ๆ ทหารประจำการอยู่ เราจึงสอบถามหา “ฐานสมเด็จ" ปรากฏว่า ไม่มีทหารคนใดรู้จัก....แต่ก็ยังโชคดี ที่พี่ทหารใจดีท่านหนึ่งได้โทรศัพท์ถามคนเก่าคนแก่ ที่อยู่ในพื้นที่ และเราก็ได้คำตอบ....
“ฐานสมเด็จนี้อาจจะอยู่ห่างจากฐานอิทธิ ประมาณ 7 กิโลเมตร ปัจจุบันไม่ทราบว่ากลายเป็นอะไร..”
เมื่อได้ยินดังนั้น มีหรือ...ที่เราจะไม่ไปดู ซึ่งก่อนจะลงจากเขาค้อ เราได้แวะชม อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ ซึ่งก็ไม่ลืมที่จะเก็บภาพมาฝากกัน
เราค่อยๆ เดินทางย้อนกลับมาทางเดิม เพื่อหาอดีตฐานปฏิบัติการสมเด็จ เมื่อขับรถได้สักพัก เราก็เข้าแวะถามที่ "เรือนร่มเกล้า" เราเข้าไปเจอทหาร 2 คน ก็ลงไปถามทันที
แต่...ไม่ได้คำตอบ เพราะทหารทั้ง 2 คน เพิ่งมาประจำการที่ จ.เพชรบูรณ์ จึงไม่รู้จัก
แต่เมื่อขับรถออกมาจากเรือนร่มเกล้า ได้เพียงไม่กี่เมตร เราจึงตัดสินใจถามชาวบ้านในพื้นที่ เพราะหันมาเห็นเนินทางขึ้นไป สำนักสงฆ์ปานสุขุม เมื่อถามชาวบ้าน ชาวเพชรบูรณ์ผู้ใจดีก็ชี้ไปทางขึ้นดังกล่าว บอกนี่แหละ "ฐานสมเด็จ" เราไม่รอช้า ขับรถขึ้นเนินดังกล่าวไปทันที ซึ่งสูงจากพื้นประมาณ 5-6 เมตร
...เมื่อขึ้นไปถึง เราเห็นพระอยู่รูปหนึ่งนั่งอยู่ และก็มีกลุ่มชายหญิงกำลังขะมักเขม้นกำลังทำอาหารกัน เราจึงเข้าไปสอบถาม....
“สวัสดีครับ...ผมผู้สื่อข่าวไทยรัฐ กำลังจะตามหาฐานปฏิบัติการสมเด็จ"
"ก็นี่แหละ คือ อดีตฐานสมเด็จ"
"แน่ใจนะครับ"
"ใช่..แน่นอน!"
ทีมข่าวฯ ได้รับคำยืนยันดีใจลิงโลด ในที่สุดก็หาเจอ (เนื่องจากกำลังลุ้นอยู่..ว่าเราจะหาเจอหรือไม่)
เราจึงได้พูดคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านจึงชี้ไปยังชายคนหนึ่งที่กำลังนั่งอยู่หลังรถ “นั่นแหละ ไปคุยกับคนโน้น..คนนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านปานสุขุม และวันนี้กำลังทอดผ้าป่ากัน"
นายนิพนธ์ คงดอนทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ปานสุขุม กล่าวว่า ผมยืนยันว่าตรงนี้ คืออดีตฐานสมเด็จเก่า หลังจากทหารออกจากพื้นที่ไป ก็กลายเป็นที่รกร้าง ส่วนกระสุนปืน อาวุธยุทโธปกรณ์ ต่างๆ ทั้งหมดถูกนำไปไว้บนฐานปืนใหญ่บนเขาค้อ
"ต่อมาที่นี่เกิดไฟป่าที่บริเวณนี้เป็นประจำ กระทั่ง พระอาจารย์ธีระ จิตกุศโล มาปักกรด พระอาจารย์ท่านก็บอกว่าน่าจะสร้างวัดนะ ผมจึงทำเรื่องเสนอจังหวัดทหารบกไปเมื่อปี 2552 เนื่องจากที่ดังกล่าวเป็นที่ของทหาร (เรือนร่มเกล้า) จากนั้นตนจึงทำเรื่องขอเนื้อที่ตรงนี้เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อมาทำสำนักสงฆ์"
ขณะที่ พระอาจารย์ธีระ จิตกุศโล พระธุดงค์มาจากอุบลราชธานี และมาเจอพื้นที่ดังกล่าว และขอสร้างเป็นสำนักสงฆ์ บอกว่า หลังจากธุดงค์มาเรื่อยๆ ก็มาพบเนินแห่งนี้ ความรู้สึกว่าที่แรง เพราะทราบว่าเมื่อก่อนแถบนี้มีคนตายเยอะ เราจึงมาสร้างสำนักสงฆ์เผื่อแผ่บุญแผ่กุศลให้ ต่อมา มีการขุดอ่างเก็บน้ำพระราชทานจาก ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้ชาวบ้านในแถบนี้มีน้ำกินน้ำใช้
หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทย ประสบปัญหานานัปการ แต่ทุกครั้งประเทศไทยจะรอดพ้นจากภยันตรายมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยปวงราษฎร์
ถึงแม้ในยามที่ต้องออกรบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ก็ทรงห่วงใย พระราชทานคำแนะนำ หรือ นำหน้าทหาร ตำรวจ อส. ออกรบด้วยพระองค์เอง ด้วยน้ำพระทัยอันห้าวหาญสมชายชาตินักรบ
ปัจจุบัน บ้านนาจาน มีความสงบร่มเย็น ภูหินร่องกล้า เขาค้อ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แลนด์มาร์กของจังหวัดที่ผู้คนจะมาหาความสุข ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของเหนือหัว 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร