5 ธันวา ปีนี้ไม่มีพ่อชื่อ ภูมิพล...

13 ต.ค. 59 ทุกดวงใจของไทยต้องแตกร้าวพร้อมกัน เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ได้เสด็จสู่สวรรคาลัย

วันนี้ (5 ธ.ค. 59) เราในฐานะทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ก็รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับทุกดวงใจคือ... “คิดถึงพ่อ”

ณ เช้าตรู่ของวันที่ 5 ธ.ค. 59 ปีนี้ แตกต่างจากปีก่อนๆ ที่มีประชาชนต่างสวมเสื้อสีเหลือง ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความปีติยินดี ร่วมกันเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

หากแต่ปีนี้กลับเป็นปีที่โศกเศร้าสุดที่จะหาคำใดมาบรรยายได้ ทุกคนพร้อมใจกันสวมเสื้อสีดำ-ขาว ใบหน้าเปื้อนคราบน้ำตาที่ยังไม่จางหายไป...วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ ไม่มีพ่อที่ชื่อ ภูมิพล อีกต่อไปแล้ว......

...

กริ๊งงงง!!!! เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นบอกเวลา 3 นาฬิกา ได้เวลาไปร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพ่อ ที่สะพานภูมิพลแล้ว

ประชาชนมากหน้าหลายตาตั้งแต่ 1 ขวบไปจนถึงวัยคุณตาคุณยาย ต่างทยอยเดินทางออกจากบ้านตั้งแต่ราวๆ ตี 3-4 เพื่อมาร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่สะพานภูมิพล 1

อนึ่ง ที่มาของสะพานภูมิพลนั้น เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในเขต กทม. กับ จ.สมุทรปราการ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 49 โดยสะพานภูมิพล 1 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือ เชื่อมระหว่างแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กทม. กับ ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทปราการ ความยาวสะพานช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 326 เมตร ความสูงจากระดับน้ำสูงสุดที่กึ่งกลางสะพาน ประมาณ 50 เมตร

ส่วนสะพานภูมิพล 2 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ เชื่อมระหว่าง ต.ทรงคนอง กับ ต.บางหญ้าแพรก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ความยาวสะพานช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 398 เมตร ความสูงจากระดับน้ำสูงสุดที่กึ่งกลางสะพาน ประมาณ 50 เมตร

5 นาฬิกา ผู้สื่อข่าวเดินทางมาถึงจุดตรวจรักษาความปลอดภัยเพื่อเข้าภายในงาน จากนั้นได้ต่อแถวเพื่อรับของที่ระลึกในงานนี้ โดยของที่ระลึก ได้แก่...

* ‘ดินมงคลของพ่อ’ ซึ่งเป็นดินจาก 77 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งมาจากโครงการต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่นำมารวมกันและผ่านพิธีสำคัญแล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 19,999 ชุด

* ‘เข็มกลัดที่ระลึก’ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต มีจำนวนทั้งสิ้น 50,000 ชิ้น

* ‘โปสการ์ด’ เพื่อเขียนคำปฏิญาณทำความดีเพื่อพ่อ โดยโปสการ์ดเหล่านี้จะถูกนำไปเข้าพิธีสวดมนต์ข้ามปีในงาน ‘แสงเทียนแห่งสยาม’ ที่ท้องสนามหลวง ก่อนที่จะส่งคืนกลับให้แก่ประชาชน

* หนังสือ ‘99 พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์’

* หนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’

...

06.40 นาฬิกา ฟ้าเริ่มสาง คนเริ่มแน่นขนัดเต็มสะพานภูมิพล ขณะที่ พิธีการต่างๆ เริ่มต้นขึ้นด้วยการแสดงความอาลัย พร้อมยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 89 วินาที ทุกความเคลื่นไหวที่อยู่บนสะพานภูมิพลหยุดนิ่ง เสียงซอกแซกจอแจสงบลง จิตใจระลึกถึงพ่ออันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย...พ่อที่ทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อชาติบ้านเมืองและราษฎรของท่านมา 70 ปี...พ่อที่ทรงสร้างสิ่งต่างๆ ให้ลูกได้มากมายมากกว่า 4,000 โครงการในพระราชดำริ...พ่อที่วันนี้ทรงได้พักผ่อน และมองลูกๆ ของท่านอยู่บนสรวงสวรรค์

หลังจากนั้น ชาวประชาบนสะพานภูมิพล จึงร่วมกันเปล่งเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด อย่างกึกก้องไปทั่วบริเวณ บางคนแม้จำเนื้อเพลงไม่ได้ก็หยิบเนื้อเพลงขึ้นมาอ่านด้วยความตั้งใจ บางคนร้องเพลงไปด้วยกอดพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปด้วย ขณะที่ มีอีกหลายต่อหลายคนร้องเพลงไปน้ำตาก็ไหลไป สะอึกสะอื้นไป แต่ไม่น่าเชื่อว่า... ทุกคำร้องที่เปล่งออกมากลับไพเราะ และมีความหมายมากมายเหลือเกิน

...

7 นาฬิกา เริ่มพิธีถวายมหาสังฆทานแก่พระสงฆ์ จำนวน 999 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม เป็นประธานในพิธีสงฆ์ จากนั้นจึงทำพิธีกรวดน้ำ และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อนเสร็จสิ้นกิจกรรม

ผู้สื่อข่าว ได้พูดคุยกับ คุณสุรางค์ศรี พรหมหิตาทร อายุ 62 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานนี้ โดยคุณสุรางค์ศรี บอกเล่าถึงความรู้สึกในวันนี้ว่า “...คิดถึงพ่อ แม้ว่าปีนี้ ประเทศไทยจะไม่มีพระองค์ท่านแล้ว แต่พระองค์จะสถิตอยู่ในดวงใจของปวงชนชาวไทยตลอดไป และวันนี้ตั้งใจที่จะมาร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน เพราะทุกครั้งที่เดินทางขึ้นมาบนสะพานภูมิพลครั้งใด จะนึกถึงพระองค์ท่านอยู่ตลอด และจากนี้ลูกคนนี้จะตั้งใจทำความดี มีความกตัญญู และรักสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีพตลอดไปค่ะ...”

...

ส่วน คุณพิศมัย จิตรทอง คุณครูโรงเรียนอนุบาลลำปาง อายุ 80 ปี เล่าด้วยรอยยิ้มปนคราบน้ำตาว่า “...วันนี้ตื่นตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อมาเตรียมของใส่บาตร และเดินทางจากถนนตกมาที่นี่คนเดียว แม้จะต้องเดินขึ้นสะพานภูมิพลไกลกว่า 2 กม. ก็ไม่เหนื่อย เพราะภูมิใจที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ และตั้งใจไว้ว่าจะทำความดีถวาย โดยการปฏิบัติตนตามคำสอนทุกอย่าง เพื่อพระองค์และเพื่อประเทศชาติ...”

คุณยายวัย 80 ปี เล่าต่อด้วยน้ำเสียงสะอื้นว่า “...ทุกครั้งที่เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านก็น้ำตาไหลทุกครั้ง ในวันที่ท่านเสด็จสวรรคตก็ร้องไห้ไม่หยุดเลย ทำใจไม่ได้...”

ตามรอย ในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปคลองลัดโพธิ์

หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมภายในงาน ผู้สื่อข่าวขอตามรอยพระบาทพ่ออยู่หัว รัชกาลที่ 9 เดินทางไปที่ประตูระบายน้ำคลอดลัดโพธิ์ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเร่งระบายน้ำจากภาคเหนือออกสู่ทะเล และช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ ทรงสังเกตเห็นการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคี้ยวคด โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่บางกะเจ้า ที่มีความยาวถึง 18 กม. เป็นสาเหตุของการระบายน้ำที่ล่าช้า ซึ่งหากระดับน้ำทะเลหนุน ก็จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาคลองลัดโพธิ์ ด้วยการขุดขยายคลองเพื่อลดระยะทางและเวลาการไหลลงของน้ำบริเวณพื้นที่กระเพาะหมู (พื้นที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตีโค้งรอบจนเกือบเป็นเกาะ เป็นพื้นที่ที่รวมเอา 6 ตำบลของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ได้แก่ บางกะเจ้า บางน้ำผึ้ง บางกอบัว บางกระสอบ บางยอ และ ทรงคนอง) ทำให้น้ำไหลลงได้รวดเร็วขึ้นจากระยะทางเพียง 600 เมตร และย่นระยะเวลาจาก 5 ชั่วโมงเหลือเพียง 10 นาทีเท่านั้น ทั้งยังสามารถบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามกำหนด ด้วยการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้เหมาะสม และสอดคล้องกับเวลาของน้ำขึ้น-น้ำลง และน้ำทะเลหนุนสูง จึงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากใน อ.พระประแดง ตลอดจนสามารถเร่งระบายน้ำเหนือที่ไหลหลากในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เป็นอย่างดี

ผู้สื่อข่าว ได้พบกับ คุณบุญเลิศ บิดาโส อายุ 59 ปี รปภ.ที่ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ โดยคุณบุญเลิศ เล่าให้ฟังว่า “...โอย เมื่อก่อนที่ยังไม่มีประตูนี้น้ำท่วมหนักมาก พอสร้างประตูเสร็จแล้วก็ไม่เคยท่วมอีกเลย ขนาดปี 54 ที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่นี่ยังไม่ท่วมเลย...”

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้เดินไปคุยกับ คุณมนัส ม่วนเฮง อายุ 55 ปี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองลัดโพธิ์ เล่าให้ฟังว่า “...ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ตั้งแต่ถนนยังเป็นดินลูกรัง เวลาถึงหน้าน้ำครั้งใด ชาวบ้านแถวนี้ต้องรีบเก็บของขึ้นที่สูงเพราะน้ำจะเข้าท่วมสูงถึงเอว ไม่สามารถเดินได้ ต้องใช้เรือพายเท่านั้น แต่พอในหลวงท่านมาสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ น้ำก็ไม่ท่วมอีกเลย และตอนที่ท่านมาแถวนี้ท่านมาแบบไม่ให้ใครรู้ มีรถมา 2-3 คันเอง มาจอดดูช่วงระหว่างก่อสร้างสะพาน แต่ก่อนหน้าก็มาดูแนวกั้นน้ำ

ส่วนตอนที่ยังไม่มีสะพานภูมิพล ผมโบกแท็กซี่จากวงเวียนใหญ่ไม่มีใครมาเลย เพราะรถติดมากทั้งรถบรรทุก รถพ่วงจอดรอข้ามแพเต็มไปหมด แต่พอมีสะพานภูมิพลรถก็ไม่ติดแล้ว จากแพข้ามฝั่ง 8-10 ลำ ตอนนี้ก็เหลือ 2 ลำ บรรทุกแต่คนและรถมอเตอร์ไซค์ข้ามฝั่ง ในหลวงท่านมีพระปรีชาสามารถมากๆ ท่านบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้มากมาย...”

5 ธันวา ณ ท้องสนามหลวง กับ ความในใจปวงประชา

ในอีกมุมหนึ่ง พสกนิกร ยังคงหลั่งไหลเดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 และ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ส่งผู้สื่อข่าวอีกคนลงพื้นที่ตั้งแต่เวลา 5 นาฬิกาเช่นกัน

เช้าวันนี้ นับเป็นเช้าที่สดใส อากาศเย็นสบาย...ขณะที่ฟ้าค่อยๆ เริ่มสว่าง ปวงประชาจากทุกสารทิศต่างมุ่งหน้าไป “ทุ่งพระเมรุ” หรือ ปัจจุบันเรียกว่า “ท้องสนามหลวง” เพื่อมุ่งหน้าไปถวายสักการะพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ พระบรมมหาราชวัง

เท่าที่สังเกตพบว่า ในช่วงเช้ามืด (ระหว่าง 5 นาฬิกา) จนกระทั่งฟ้าสาง (6 นาฬิกา) ได้มีรถบัสจากต่างจังหวัดเดินทางมาเป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะรถบัสจากจังหวัดสิงห์บุรี และ ลพบุรี ที่เดินทางมาเกือบ 20 คัน พร้อมกับตั้งแถวเดินทางเข้าสนามหลวง เพื่อเข้าคิวถวายสักการะพระบรมศพ

ผู้สื่อข่าวเดินเข้าสนามหลวงพร้อมกับคณะดังกล่าว และเมื่อเดินสำรวจบรรยากาศโดยรอบ สายตาทีมข่าวก็พบ ผู้สูงอายุท่านหนึ่ง นั่งอยู่ตรงเต็นท์กลางสนามหลวง และยายท่านนี้คือ ยายเนียน แม่นกาหลง อายุ 89 ปีแล้ว

ยายเนียน มากับลูกหลานหลายคน แต่เนื่องจากมีอายุมากแล้ว หูตาฝ้าฟาง จึงได้รับโอกาสได้เข้าถวายสักการะพระบรมศพก่อน และมานั่งรอลูกหลานบริเวณนี้ คุณยายเนียน เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังอย่างเชื่องช้าว่า เธอมาจาก จ.นครสวรรค์ และถึงที่แห่งนี้ ณ เวลาเที่ยงคืน “มาครั้งนี้เพื่อส่งเสด็จพระองค์ท่าน อยากให้พระองค์ท่านขึ้นสู่สวรรค์ ยายมีความเชื่อว่าหลังจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จะช่วยดูแลลูกหลานและราษฎรเป็นอย่างดี” พูดแล้วก็น้ำตาคลอ...

ไม่ไกลจากตรงนั้น ได้มีกลุ่มหญิงสาว 3 คน กำลังยืนถ่ายรูปอยู่ ผู้สื่อข่าวจึงเข้าพูดคุย และถามว่า 5 ธันวาคมปีนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง สายนที ศรีเดช หญิงสาววัย 43 ปี ที่มาพร้อมคณะจาก จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า “5 ธันวาคมของทุกๆ ปี พวกเราเคยชินกับ “วันพ่อแห่งชาติ” วันนี้พวกเราทุกคนจะเตรียมเสื้อสีเหลือง และอยากจะมานั่งฟังพระราชดำรัสของพระองค์ ที่ให้พรกับประชาชน แต่วันนี้ไม่มีแล้ว ก็รู้สึกใจหาย...”

นายเพียร เตียงประโคน ผู้สูงอายุวัย 67 ปี ที่เฝ้ารอที่ “จุดรอคอย” นั่งรอคิวเข้าถวายสักการะพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็มาตั้งแต่เช้ามืด เขาบอกว่า เขาเดินทางมาถึงสนามหลวงตั้งแต่ตี 3 มาพร้อมคณะสันติอโศกเพื่อทำโรงบุญแจกจ่ายอาหารให้กับประชาชน “ผมอยากจะบอก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า ผมตั้งใจที่จะทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พ่อหลวง”

หลังจากเวลาค่อยๆ ผ่านไป กระทั่งเวลาสาย ประชาชนยิ่งทยอยเดินทางมาสมทบจำนวนมาก กระทั่งจุดตั้งแถวยาวออกไปยังด้านศาลฎีกา ผู้สื่อข่าวได้ยินเสียง คุณยายสมจิตร ชูรักษา วัย 83 ปี กำลังคุยกับเพื่อนร่วมแถวอย่างแจ้วจ้อยเสียงดังฟังชัด และมีท่าทีที่แข็งแรงมากๆ คุณยายบอกกับเราว่า “ยายเดินทางมาจากบางกะปินี่เอง... ที่มาวันนี้เพราะคิดถึงพ่อหลวง อยากมากราบสักการะพระบรมศพ ตอนที่ท่านยังมีชีวิตบ้านเมืองเราก็เจริญรุ่งเรือง ทุกคนมีความสุข เมื่อพระองค์ท่านสวรรคตเราก็รู้สึกใจหาย อย่างไรก็ตาม ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านยังคงอยู่ในใจเราเสมอ”

ประคอง หอมจำปา และลูกสาววัย 8 ขวบ สองแม่ลูกก็เป็นอีกหนึ่งครอบครัว ที่เดินทางมาตั้งแต่เช้า 5 นาฬิกา โดยออกจากบ้านที่ มหาชัย จ.สมุทรสาคร และเพิ่งเดินทางมาถึง และมาเข้าคิวอยู่จุดหางแถว ประคอง บอกว่า ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เลย เพราะลูกสาวยังเรียนและไม่มีเวลาเดินทางมา วันนี้เป็นวันหยุด 5 ธันวาคม จึงมีโอกาสพาลูกสาวมาถวายสักการะพระบรมศพ

“ถึงแม้พระองค์ท่านจะไม่อยู่แล้ว แต่ในความรู้สึก พระองค์ท่านก็ยังคงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่ผ่านมา ในฐานะแม่ก็คอยบอกคอยสอนลูกสาวให้ทำดี ความรู้สึกของฉัน ในวันที่ 5 ธันวาคมปีหน้าก็ยังคงรู้สึกไม่เปลี่ยนแปลงไป คือ รักในหลวง รัชกาลที่ 9” นางประคอง กล่าว ก่อนจะเดินแถวต่อไป

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกของประชาชน ณ 2 สถานที่ คือ สะพานภูมิพล 1 และ ท้องสนามหลวง แล้วคุณล่ะรู้สึกอย่างไรกับวันที่ 5 ธันวาคม ในวันที่เราไม่มี ในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้ว...