สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีสมาชิกท่านหนึ่งครับ ได้สอบถามผมถึงเรื่องของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย ในกรณีที่รถกระบะชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อจนได้รับความเสียหาย ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนั้น ได้ผ่านการตรวจสอบสภาพความเสียหายจากพนักงานของบริษัทประกันภัย และบริษัทประกันภัยได้พิจารณาอนุมัติค่าสินไหมทดแทน พร้อมกับค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีเรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้ดูเหมือนจะจบลงโดยง่าย แต่ไม่จบแค่นั้นครับ
ต่อมาเจ้าของรถที่แท้จริง ซึ่งเป็นคู่กรณีไม่พอใจ อ้างว่ารถจะต้องจอดในอู่หลายเดือนจึงขอค่าเสียเวลาเพิ่มเติม ทั้งที่รถทั้งสองคันขับตามกันมา โดยฝ่ายรถกระบะ ซึ่งขับตามหลังรถสิบล้อ ไม่รักษาระยะห่าง ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ขับรถจี้ตูด" เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินรถสิบล้อได้เบรกกะทันหัน ทำให้รถกระบะวิ่งเข้ามาชนท้ายรถสิบล้อ แต่ด้วยความสงสารคนขับรถกระบะ เนื่องจากยืมรถคนอื่นมาแถมไม่มีใบขับขี่ และได้รับบาดเจ็บด้วย ฝ่ายเจ้าของรถสิบล้อเกิดความสงสาร จึงให้การต่อเจ้าพนักงานสอบสวนว่า ได้จอดรถริมถนน โดยไม่ให้สัญญาณไฟกับรถคันหลังทำให้รถกระบะชนท้ายดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ฝ่ายรถกระบะได้รับค่าเสียหายรวมทั้งค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
คำถาม คือ กรณีแบบนี้ ฝ่ายรถสิบล้อควรจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมให้แก่คู่กรณี หรือเล่าข้อเท็จจริงให้แก่พนักงานสอบสวนฟังใหม่ เพื่อให้เอาผิดกับรถกระบะ
จากเรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจครับ เนื่องจากการสมยอมกันระหว่างเจ้าของรถสิบล้อกับเจ้าของรถกระบะ จะสร้างความยุ่งยากให้แก่เจ้าของรถสิบล้อมากมายครับ เช่น หากไม่ชำระเงินค่าเสียหายเพิ่มเติมให้แก่เจ้าของรถกระบะ ศาลอาจจะพิพากษาลงโทษให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา และหากจะกลับคำให้การในชั้นสอบสวน โดยให้การใหม่ต่อศาล ฝ่ายเจ้าของรถสิบล้อจะต้องหาทนายความ หาพยานและหลักฐาน เพื่อต่อสู้กับคำให้การของตัวเอง ซึ่งเคยให้การไว้กับตำรวจ ข้อเท็จจริงจะฟังได้หรือไม่ ผลทางคดีจะออกมาในรูปแบบใดนั้นก็เป็นอีกเรื่องครับ เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายอีกต่างหาก
...
ผลที่จะตามมาอีกประการหนึ่ง ภายหลังจากกลับคำให้การในชั้นศาล คือ ถูกบริษัทประกันภัยดำเนินคดีทางแพ่ง เพื่อเรียกเงินที่ได้ชำระให้แก่คู่กรณีคืน และอาจจะต้องถูก บริษัทประกันภัย ดำเนินคดีอาญา ข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 347 ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากข้อเท็จจริงในคดีนี้ จะเห็นได้ว่า การสมยอมกันระหว่างคู่กรณี เพื่อให้บริษัทประกันภัยชำระค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ให้แก่คู่กรณี หรือในกรณีการจัดฉาก โดยอ้างว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เพื่อหลอกให้บริษัทประกันภัยชำระค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่รถที่เสียหาย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มีความผิดทางอาญานะครับ หากกำลังคิดจะทำหรือคิดจะช่วยคนอื่น ขอให้คิดถึงผลที่จะติดตามมาด้วยครับ
สำหรับท่านที่มีคำถาม ข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย และต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK