ปัจจุบัน...“โลกเครือข่าย” ในยุคไร้พรมแดน
มีบทบาทสำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรม การติดต่อสื่อสาร ค้นคว้าหาข้อมูล รวมถึงใช้เป็นฐานเก็บข้อมูลสำคัญต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการใช้อินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นเครือข่ายนานาชาติ ที่เกิดจากเครือข่ายเล็กๆมากมาย รวมเป็นเครือข่ายเดียวกันทั้งโลกมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) ไม่ว่าจะเป็น...เฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) ทวิตเตอร์ (Twitter) ยูทูบ (Youtube) ฯลฯ จึงเข้ามา มีบทบาทและได้รับความนิยม...เป็นเสมือนอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งทำให้ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นคนมีชื่อเสียงในโลกโซเชียลมีเดีย เป็นเน็ตไอดอล (Net Idol) ทำให้คนธรรมดาได้ใกล้ชิดกับคนมีชื่อเสียงหรือบุคคลสาธารณะ
และยังเป็นช่องทางการทำธุรกิจ หรือการตลาดของผู้ประกอบการออนไลน์ด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ปกครองสร้างเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมของลูก หรือนำภาพไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหวของเด็กมาลงในโซเชียลมีเดีย
“สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่สำคัญซึ่งมีในรัฐธรรมนูญทุกฉบับนั้น มีหลักการที่สำคัญว่า มนุษย์ทุกคนจะมีสิทธิในชีวิตร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน ฯลฯ และกฎหมายให้ความสำคัญกับ “การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล”
รวมถึงการให้ข้อมูลส่วนบุคคลด้วย สิทธิส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญต่อเด็กเพราะช่วยในการควบคุมการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวเด็ก ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาตามธรรมชาติของเด็ก เนื่องจากความเป็นส่วนตัวถูกนำมาเชื่อมโยงกับการสร้างอัตลักษณ์และความสามารถที่จะเข้าไปในความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
...
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัชชภร มหาแถลง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม บอกว่า เด็กๆเหล่านี้ยังไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้ด้วยตัวเอง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีเล่นเฟซบุ๊ก ลงภาพในอินสตาแกรมเองได้ ดังนั้น...ความเคลื่อนไหวต่างๆของเด็กที่เราเห็นบนโลกออนไลน์ จึงเป็นการโพสต์โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งการแชร์รูปหรือวีดิโอของเด็กๆเหล่านี้นั้น อาจมีบุคคลเข้ามาชื่นชม แชร์รูปหรือคลิปดังกล่าวในความน่ารักและความไร้เดียงสาของเด็ก แต่ในขณะเดียวกันอีกแง่มุมหนึ่งนั้น อาจเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว
ในแง่ของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นชื่อ อายุ เพศ ที่อยู่ ฯลฯ หรือถูกนำไปใช้ในการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ รวมถึงการนำภัยมาสู่เด็กโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเครือข่ายสังคมต่างๆบนอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นการสนทนา ออนไลน์ กระดานข่าว หรือเว็บไซต์ต่างๆมีผู้ใช้เป็นจำนวนมากที่เป็นเด็ก ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเด็กมากขึ้น
หากนำไปใช้ในทางที่ผิดจะทำให้เกิดภยันตรายต่อเด็กตามมา เช่น กระทำการแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากเด็กออนไลน์ การล่อลวงเด็ก...ซึ่งสาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งของปัญหาเหล่านี้เกิดจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็ก โดยมีการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโดยมีลักษณะที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้
สำหรับกฎหมายไทยนั้น มีพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 27 “ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ซึ่งในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กนั้นครอบคลุมถึงข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเตอร์เน็ตหรือไม่นั้น ยังไม่มีตัวบทกฎหมายระบุไปอย่างชัดเจน
ทำให้เจ้าของเว็บไซต์หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทำการจัดเก็บประมวลผลนำไปใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่เข้าใช้บริการอินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยกระทำในลักษณะที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัชชภร ย้ำว่า เหตุผลที่ต้องคุ้มครองสิทธิเด็กนั้น เนื่องจากเด็กไม่รู้และไม่สามารถใช้สิทธิได้ด้วยตัวเอง ประเทศในสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี กฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็กเข้มงวดมาก โดยเฉพาะการลงรูปภาพหรือวีดิโอของเด็กบนสื่อออนไลน์ พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กอาจถูกเด็กฟ้องในภายภาคหน้าเนื่องจากการโพสต์ภาพของพวกเขาเมื่อครั้งยังเยาว์วัย
“พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กอาจถูกตัดสินให้จำคุกได้จากการละเมิดความเป็นส่วนตัวดังกล่าว และการโพสต์รูปหรือวีดิโอของเด็กบนสื่อออนไลน์ อาจทำให้กลุ่มคนที่มีรสนิยมชอบร่วมเพศกับเด็ก (Paedophiles) ใช้ประโยชน์จากภาพหรือวีดิโอของเด็กบนสื่อออนไลน์ ซึ่งจะนำอันตรายมาสู่เด็กในชีวิตจริงได้”
ประเทศเยอรมนี...กำหนดอายุของเด็กคือบุคคลที่อายุต่ำกว่า 14 ปี ห้ามพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กเช็กอิน (check in) ว่าเด็กอยู่ที่ใดบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม แม้เด็กจะอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ตาม
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กบนโลกออนไลน์ (CHILDREN'S ONLINE PRIVACY PROTECTION ACT 1998) โดยกำหนดอายุของเด็กคือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีนั้น ไม่ควรอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเช่น เฟซบุ๊ก
ซึ่งทางเฟซบุ๊กเองก็มีนโยบายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี มีบัญชี (account) เฟซบุ๊กเป็นของตนเอง
สำหรับกรณีพ่อแม่หรือผู้ปกครองโพสต์รูปภาพหรือวีดิโอของเด็กนั้น ทางเฟซบุ๊กได้พิจารณาเรื่องการสร้างระบบเพื่อแจ้งเตือนผู้ปกครองที่เอารูปลูกหลานขึ้นออนไลน์โดยไม่ได้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้
...
ซึ่งทางเฟซบุ๊กได้เตือนเรื่องนี้ในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาเช่นกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างความเป็น “สาธารณะ (public)” และ “ความเป็นส่วนบุคคล (private)”
ส่วน “อินสตาแกรม” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก ได้ออกนโยบายให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กบนโลกออนไลน์เช่นกัน
กำหนดว่าบุคคลที่มีบัญชีกับอินสตาแกรมได้จะต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป หรือในบางกรณีที่มีคำสั่งศาล หรือกฎหมายควบคุม อาจบังคับให้เจ้าของบัญชีต้องมีอายุมากกว่านั้น
“หากสงสัยว่ามีคนแปลกหน้าหรือได้มีการทำบัญชีของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี สามารถรีพอร์ตข้อมูลมาได้ ดังนั้น...เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี จึงไม่สามารถมีบัญชีส่วนตัวของตัวเองได้ หากมี ทางอินสตาแกรมจะลบบัญชีส่วนตัวดังกล่าว เหมือนกับกรณีที่เคยเกิดกับลูก หรือน้องของดารา บุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย”
ตอกย้ำในส่วนของ “ประเทศไทย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัชชภร มหาแถลง มองว่า ควรมีบทบัญญัติของกฎหมายหรือกำหนดเรื่องนโยบายความเป็นส่วนตัวออนไลน์ที่ชัดเจน ในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ของเด็ก อีกทั้งมาตรฐานในการสร้างและรักษาฐานข้อมูลที่เหมาะสม
เพื่อปกป้องความลับการรักษาความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก
ที่สำคัญ...ควรกำหนดมิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กทางโซเชียลมีเดีย โดยไม่คำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของเด็กทั้งในปัจจุบันและในอนาคต.