(ภาพจาก ประชาสัมพันธ์สสส.)

เตือนคุณพ่อคุณแม่ โพสต์ภาพลูกน้อยลงสื่อสังคมออนไลน์ อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เผยต้องเร่งให้ความรู้ว่าสิทธิเด็กเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.59 นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวในเวทีเสวนา “สิทธิเด็ก...ในยุคมนุษย์กล้องครองเมือง”ว่า การกระทำใดๆ ที่ทำให้เด็กรู้สึกกลัว กังวล เสียใจ โดยไม่อยู่ในสภาพความเป็นจริงแล้วนำไปโพสต์หรือแชร์ผ่านสื่อออนไลน์ ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก หลายกรณีกระทำโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ที่กระทำเพียงสนองความรู้สึกสนุก สร้างการยอมรับให้คนกดไลค์กดแชร์

ทั้งนี้ถือเป็นการสร้างตราบาป ให้เด็กรู้สึกอับอายด้อยคุณค่า สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของลูกว่าจะเกิดผลกระทบทางลบอย่างไร ขาดทักษะการเลี้ยงดู สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการกระทำที่ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กพ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550

นายสรรพสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การที่สื่อต่างๆ นำไปเผยแพร่ยิ่งทำให้เด็กถูกกระทำซ้ำถูกดูหมิ่น ถือว่าละเมิดสิทธิเด็กเช่นกัน อย่างไรก็ตามมาตรการการให้การศึกษา มาตรการทางสังคมในการสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ และถือเป็นภารกิจหลักของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) รวมถึงมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่มีแค่ตัวบทกฎหมายแต่ไม่มีกลไกดำเนินการ และมาตรการบริหารที่ต้องมีหน่วยงานดำเนินการอย่างจริงจัง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การโพสแชร์ภาพเด็กแม้แต่ภาพความน่ารักของเด็กอาจเป็นช่องทางเสี่ยงทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เด็กเข้ามาเกี่ยวข้องกับโลกโซเซียลเกินกว่าวัย จึงอยากเสนอให้องค์กรวิชาชีพต่างๆ ออกแนวปฏิบัติกำหนดขอบเขตการใช้สื่อออนไลน์

...

ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า สังคมไทยเรียนรู้เรื่องสิทธิเด็กน้อยมาก แม้แต่สื่อเองก็ยังละเมิดสิทธิเด็กและยังไม่เคยเห็นมีการดำเนินคดีกับสื่อ ไม่เคยมีการเชือดไก่ให้ลิงดูเพื่อจะได้เกิดความตระหนัก