ประชุมประชามติ ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ล่ม ชาวบ้านไม่เห็นด้วย ใช้ที่ชุ่มน้ำ ‘ลุ่มน้ำอิง’ กว่า 2 พันไร่ ไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม หวั่นสร้างมลภาวะกระทบสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายแก่ชุมชนโดยรอบเป็นวงกว้าง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ต.ค.59 ที่วัดบุญเรืองเหนือ ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายนักปราชญ์ ไชยานนท์ หน.กลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ สำนักงาน จ.เชียงราย นายยรรยง พลสันติกุล โยธาธิการและผังเมืองเชียงราย หอการค้าเชียงราย เรียกประชุมชาวบ้าน หมู่ 1-5-8-10 ต.บุญเรือง อ.เชียงของ เพื่อทำประชามติ กรณีใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ 2,322 ไร่ บริเวณใกล้เคียงหมู่บ้าน ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเคยถูกชาวบ้านและนักวิชาการสิ่งแวดล้อมคัดค้านก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ลุ่มน้ำอิง หากนำไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะมีผลกระทบเกิดน้ำท่วมพื้นที่ข้างเคียง

ทั้งนี้ การประชุมช่วงเช้าแบ่งเป็นหมู่ที่ 1-5 บรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ชาวบ้านส่วนที่คัดค้านได้โต้เถียงและเดินออกจากที่ประชุม ส่วนช่วงบ่ายมีการประชุมชาวบ้านหมู่ 8-10 บรรยากาศที่ประชุมมีชาวบ้านคัดค้านจำนวนมาก เกินกว่าครึ่งที่ไม่เห็นด้วย และสงสัยว่า การเรียกประชุมทำประชามติครั้งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านไม่รับรู้มาก่อน ทำให้เกิดการโต้เถียงอย่างเคร่งเครียด เจ้าหน้าที่ อส.และทหารพราน ต้องเข้าดูแลความสงบเรียบร้อย

...

ต่อมา ได้ผลสรุปว่า เจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนวิธีการใหม่ โดยจะนัดการทำประชาพิจารณ์แยกเป็นแต่ละหมู่บ้าน เพื่อนำไปเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป

นายนักปราชญ์ ไชยานนท์ หน.กลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานจ.เชียงราย กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ เกิดจาก อบต.บุญเรือง มีหนังสือสนับสนุนนโยบายตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายในพื้นที่ ต.บุญเรือง ส่งผ่าน อ.เชียงของ ไปถึง ผวจ.เชียงราย ระบุว่า มีชาวบ้านหมู่ 2 เท่านั้นที่คัดค้าน จังหวัดจึงจัดตัวแทนมาชี้แจง แต่ไม่สามารถลงเสียงประชามติได้ เนื่องจากแยกไม่ออกว่าหมู่บ้านไหนเห็นด้วยหรือไม่ จึงจะนัดการประชุมแยกแต่ละหมู่บ้านอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จังหวัดรับฟังเสียงชุมชน ถ้าไม่ต้องการจังหวัดก็จะทำเรื่องสรุปส่งรายงานให้ กนพ. และนำข้อสรุปที่ชัดเจนแจ้งกับนักลงทุนที่เริ่มเข้ามาสอบถาม เพื่อดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน

ขณะที่ นายถนอม อุตตมะ ประธานสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง กล่าวว่า การจะใช้พื้นที่ป่าชุ่มน้ำตำบลบุญเรือง จะสอบถามเพียงคนในพื้นที่ไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ หากมีการถมที่ก็ต้องเกิดเป็นคอขวด และท่วมขัง มีผลกระทบต่อพื้นที่ตำบลและอำเภอใกล้เคียงโดยรอบ ขณะนี้ 16 ชุมชนลุ่มน้ำอิงกำลังยื่นขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง วันนี้จึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านของชุมชน หมู่ 1, 2, 5, 8 และหมู่ 10 ผ่านตัวแทนจังหวัดที่มารับฟังประชามติ ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด.